Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2557
Summary:
1. เงินเฟ้อ พ.ค. สูงสุดในรอบ 14 เดือน
2. การเปลี่ยนแปลงการเมืองของคสช. หนุนอสังหาฯ ฟื้นตัวไตรมาส 3
3. อินโดนิเซียเผยตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือน พ.ค. 57
1. เงินเฟ้อ พ.ค. สูงสุดในรอบ 14 เดือน
- นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศในเดือน พ.ค.57 เท่ากับ 107.90 คิดเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.57 สูงขึ้นร้อยละ 0.40 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน นับจากเดือน มี.ค.56 และเมื่อเทียบเฉลี่ย 5 เดือนของปี 57 (ม.ค.-พ.ค.) สูงขึ้นร้อยละ 2.21
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไข่ และผักสด (จำพวกผักกาดขาว ผักชี) เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ประกอบกับราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และ ก๊าซหุงต้ม ( LPG ) ที่มีการทยอยปรับราคาสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 56 และรวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงตามค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ( Ft ) อย่างไรก็ดี จากนโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งจะชะลอแรงกดดันของเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มมากนัก ทั้งนี้ สศค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
2. การเปลี่ยนแปลงการเมืองของคสช. หนุนอสังหาฯ ฟื้นตัวไตรมาส 3
- ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รายงานว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบชัดเจนจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว จากสถิติตัวเลขยอดการเปิดตัวช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2557) ลดลงค่อนข้างมาก จาก 144 โครงการ จำนวน 4.3 หมื่นยูนิต ลดลงเหลือเพียง 115 โครงการ จำนวน 2.9 หมื่นยูนิต โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ลดลงจากจำนวน 3 หมื่นยูนิต เหลือเพียง 1.8 หมื่นยูนิต ลดลงร้อยละ 40 ส่วนบ้านจัดสรร ลดลงจาก1.3 หมื่นยูนิต เหลือ 1.1 หมื่นยูนิต ลดลงร้อยละ17 ทำให้ในช่วงต้นปีมีการประเมินตลาดทรงตัวร้อยละ 5 เท่ากับปี 2556 แต่เมื่อปัญหาการเมืองยืดเยื้อมาถึง 6 เดือน จึงมีการปรับลดคาดการณ์เติบโตลงเรื่อยๆ เป็นติดลบร้อยละ 2 ถึงติดลบ 5
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -0.3 และภาพรวมของตลาดอสังหาฯในช่วง 4 เดือนแรก มีการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนได้จากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย. หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ดี หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาแก้ปัญหาด้านการเมือง และบริหารประเทศ รวมถึงได้มีการเดินหน้าโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค เช่น รถไฟรางคู่ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังให้มีทิศทางดีขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 57
3. อินโดนีเซียเผยตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือน พ.ค. 57
- ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.32 จากร้อยละ 7.25 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยาสูบ ตลอดจนค่าขนส่งได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค.57 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หลังจากปรับตัวลดลงร้อยละ 0.02 ในเดือน เม.ย.57
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียในเดือน พ.ค. 57 สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.07 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ยาสูบ และค่าขนส่ง ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศอินโดนีเซียลดลง และส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอินโดนีเซียในสัดส่วนร้อยละ 4.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทย สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำตาลทราย และเคมีภัณฑ์ โดยสศค. คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซียจะส่งผลกระทบไม่มากนักต่อภาคการค้าระหวางประเทศของไทย
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257