Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2557
Summary:
1. คสช. ตั้งคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
2. รัฐประหารยังไม่กระทบเรทติ้งบริษัทจดทะเบียนไทย
3. GDP ออสเตรเลีย ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 มากกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรกของปี 57
1. คสช. ตั้งคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า คสช. ได้มีการแต่งตั้งพลโทอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นปลัดบัญชี กองทัพบก เป็นประธานคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และมีรองประธาน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะแต่งตั้งเพื่อทำงานติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และอยู่ในกรอบระเบียบวินัยการเงินการคลัง และมุ่งเน้นการให้ประโยชน์ รวมถึงความคุ้มค่าของแต่ละโครงการที่จะดำเนินการ ทั้งในส่วนของปี 57 และปี 58 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายภาครัฐ แบ่งออกเป็น 1) การบริโภคภาครัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 10.3 ของ GDP และ 2) การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 4.7 ของ GDP โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 57 ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงปม. สามารถเบิกจ่ายได้ร้อยละ 56.4 ของวงเงินงปม. (2.525 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ หากในช่วงที่เหลือของปีงปม. 57 สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงปม. ได้ดี ซึ่งจะให้การเบิกจ่ายงปม. ในปี 57 เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 95.0 และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อไปกระตุ้นการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย 57 นี้)
2. รัฐประหารยังไม่กระทบเรทติ้งบริษัทจดทะเบียนไทย
- สถาบันจัดอันดับเครดิต ทริสเรตติ้ง เปิดเผยว่า อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจดทะเบียนของไทยที่ให้ทริสเรตติ้งจัดอันดับเครดิตให้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนจำนวน 140 บริษัท และในปีนี้มีลูกค้าใหม่อีก 10 บริษัท ยังถือว่ามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและบริษัทส่วนใหญ่ยังคงระดมทุนตามแผนภายหลังจากความกังวลต่อผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองได้ผ่อนคลายลงพอสมควรแล้ว ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ภาคเอกชนจะกลับมาระดมทุนได้เต็มที่อีกครั้ง ทั้งนี้ การระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท จากมูลค่าระดมทุนรวมในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 2 แสนล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจดทะเบียนของไทยมีปัจจัยสำคัญจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย สะท้อนจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในปี 57 มีจำนวน 789.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ปรับตัวลดลง โดยล่าสุด กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 57 มีจำนวน 220.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ -9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากการจัดอันดับเครดิตของบริษัทชั้นนำของโลกพบว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และบริษัท Standard and Poor's (S&P's) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตพันธบัตรระยะยาวของไทยไว้ที่ระดับเดิมคือ ระดับ Baa1 BBB+ และ BBB+ ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและสามารถต้านทานปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองได้
3. GDP ออสเตรเลีย ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 มากกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรกของปี 57
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลีย รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ มีการขยายตัวมากกว่าคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า โดยอัตราการขยายตัวช่วง เดือนมกราคม-มีนาคมอยู่ในร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่คาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.9 และมีอัตราการขยายตัวในรอบ 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 3.5 สูงที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี จากที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.2
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรสามแรกของปี 57 มาจากยอดการส่งออกในไตรมาสแรกมีการขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ส่วนการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5% การก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 แต่มีการออมในภาคครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.7 ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับ 9.6 ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจออสเตรเลียพึ่งพาอุตสาหกรรมเหมืองแร่มากถึงร้อยละ 80 ยังเป็นแรงกดดันที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากตลาดสำคัญอย่างจีนเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257