รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 10, 2014 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2557

Summary:

1. FAO เผย การค้าข้าวโลกเพิ่ม ลุ้นไทยส่งออกข้าวครึ่งปีหลังได้มากขึ้น

2. กรมการบินฯ ชี้ปัญหาการเมืองฉุดเที่ยวบินลดลงเพียงร้อยละ 5 เชื่อ ต.ค. นี้ฟื้นตัว

3. ญี่ปุ่นเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้

1. FAO เผย การค้าข้าวโลกเพิ่ม ลุ้นไทยส่งออกข้าวครึ่งปีหลังได้มากขึ้น
  • เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO คาดว่าในปี 57/58 จะมีผลผลิตข้าวโลก 501.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.8 โดยประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน อินเดีย บังคลาเทศ และเวียดนามที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าตลาดโลกจะมีความต้องการซื้อข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ที่มีปริมาณทั้งสิ้น 2.94 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 49,280 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 ได้แก่ 1) ความต้องการของตลาดโลกในการบริโภคข้าว 2) แนวโน้มค่าเงินบาท 3) ราคาส่งออกข้าวไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง 4) ปริมาณผลผลิตข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่าในปี 57 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตัน
2. กรมการบินฯ ชี้ปัญหาการเมืองฉุดเที่ยวบินลดลงเพียงร้อยละ 5 เชื่อ ต.ค. นี้ฟื้นตัว
  • นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน เปิดเผยว่า นับจากเดือน ต.ค. 56 - พ.ค. 57 พบว่า ปริมาณการเดินทางทางอากาศ เที่ยวบินที่บินตามตารางบินปกติลดลงเพียงร้อยละ 5 แต่เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำลดลงมากกว่าร้อยละ 5 และมีการยกเลิกการเดินทางในบางเที่ยวบิน ส่วนหนึ่งมาจากอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้ มั่นใจว่า ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลตารางบินปกติที่ลดลงร้อยละ 5 สอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้น ช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 57 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 10.4 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.9 โดยเป็นการลดลงจากนักท่องเที่ยวชาวจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่นเป็นหลัก ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกรณีรัฐประหารในปี 49 พบว่า จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากภาวะปกติ เป็นระยะเวลา 3 เดือน จึงจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติได้ และหากในครั้งนี้จะอยู่ในทำนองเดียวกันกับครั้งก่อนคาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในเดือน ส.ค. 57 ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทยในเดือน ต.ค. ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 57 อยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ 26.5 - 27.5 ล้านคน หรือขยายตัวได้ ในช่วงร้อยละ 0 - 3.8
3. ญี่ปุ่นเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้
  • สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบรายปี ในไตรมาสแรกของปี 57 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประมาณการในเบื้องต้นที่ร้อยละ 5.9 โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นจากการประมาณการเบื้องต้นที่ร้อยละ 4.9 ส่วนการใช้จ่ายในภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 2.2 เพิ่มขึ้นจากการประมาณการเบื้องต้นที่ร้อยละ 2.1 ขณะที่ยอดการส่งออกและการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6 และ 6.3 ตามลำดับ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเบื้องต้น แต่การใช้จ่ายในภาครัฐ หดตัวลงร้อยละ 2.7 ซึ่งลดลงจากการประมาณการเบื้องต้นที่ร้อยละ 2.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มเป็นขยายตัวร้อยละ 6.7 จากเดิมร้อยละ 5.9 ในไตรมาสแรกปี 57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดนับจากปี 54 เนื่องมาจากภาคธุรกิจขยายการลงทุนในระดับร้อยละ 7.6 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.9 ทำให้การลงทุนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเหตุผลส่วนหนึ่งของการขยายตัวดังกล่าวนั้นมาจากการกักตุนสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สศค. มีความเห็นว่า การใช้จ่ายที่ขยายตัวดังกล่าวอาจหมายถึงการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการบริโภคที่จะลดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี หลังการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 8 มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 57 นั้น สศค. คาดว่า จะยังคงขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.8 -1.8 เนื่องจากการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจหลังจากไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งจากการใช้จ่ายภาครัฐของญี่ปุ่นที่หดตัวลงร้อยละ 2.7 จากประมาณการเบื้องต้นที่ร้อยละ 2.4 ในไตรมาสแรก เป็นการส่งสัญญาณที่ควรติดตามแผนการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.นี้ ซึ่งผลของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศจะมีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ในลำดับต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ