ผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนพฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 13, 2014 10:39 —กระทรวงการคลัง

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนพฤษภาคม 2557 ดังนี้

ผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ

1. การบริหารจัดการหนี้รัฐบาล

1.1 ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล

ในเดือนพฤษภาคม 2557 กระทรวงการคลังได้กู้เงิน (1) เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 30,534 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ 1,009.72 ล้านบาท (2) การเบิกจ่ายเงินกู้ 750 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 15,393 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศฯ (3) การเบิกจ่ายเงินกู้ต่อให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 1,274.87 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 719.46 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 1,172.87 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 154.27 ล้านบาท และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้ 390 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 3,000 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นการกู้เงินบาททดแทนเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL)

1.2 การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาล

1.2.1 การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2557

ในเดือนพฤษภาคม 2557 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศที่ครบกำหนด ดังนี้

1. พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ พ.ศ. 2548 ที่ครบกำหนด จำนวน 121,035 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น (1) การใช้เงินกู้ล่วงหน้าจากกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ จำนวน 58,000 ล้านบาท (2) การออก R-bill จำนวน 40,000 ล้านบาท (3) การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 13,035 ล้านบาท และ (4) การกู้เงินระยะสั้น 10,000 ล้านบาท

2. พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ(FIDF 3) ที่ครบกำหนด จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งจำนวน

ทั้งนี้ การรายงานการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลจะไม่รวมการ Roll over ตั๋วเงินคลัง เนื่องจากการกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลังเป็นการกู้ในรูปเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้เพียงพอกับการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยการกู้เงินในขณะหนึ่งจะไม่เกินวงเงินที่กำหนด โดย ณ ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีวงเงินตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารเงินสดรับ – เงินสดจ่ายของรัฐบาล จำนวน 102,135 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจะทำการ Roll over ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดตามอายุของตั๋วเงินคลังในแต่ละรุ่น

1.2.2 การกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2557

ในเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่มีการกู้เงินล่วงหน้า (Pre-funding)

1.3 การชำระหนี้ของรัฐบาล

ในเดือนพฤษภาคม 2557 กระทรวงการคลังได้ชำระหนี้ จำนวน 16,872.90 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

1.3.1 การชำระหนี้ของรัฐบาลจากงบประมาณชำระหนี้ เป็นจำนวน 7,132.34 ล้านบาท ดังนี้

  • ชำระหนี้ในประเทศ 7,109.13 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 333.51 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,774.98 ล้านบาท และค่าธรรมเนียม 0.64 ล้านบาท
  • ชำระหนี้ต่างประเทศ 23.21 ล้านบาท โดยเป็นการชำระดอกเบี้ย 23.19 ล้านบาท และค่าธรรมเนียม 0.02 ล้านบาท

1.3.2 การชำระหนี้ของรัฐบาลจากแหล่งอื่น เป็นจำนวน 9,740.56 ล้านบาท ดังนี้

(1) การชำระต้นเงินกู้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จำนวน 175 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังกู้มาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลรับภาระแทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยใช้เงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้

(2) การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 1,803.11 ล้านบาท เป็นการชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวน โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุน เพื่อการฟื้นฟูฯ 2

(3) การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่สองฯ (FIDF 3) จำนวน 7,762.45 ล้านบาท แบ่งเป็นการชำระต้นเงินกู้ 7,202.03 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1 ที่ได้รับจากการโอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ รวมถึงการชำระดอกเบี้ยจำนวน 560.42 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุน เพื่อการฟื้นฟูฯ 2

ทั้งนี้ แหล่งเงินที่นำเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 ประกอบด้วย (1) เงินกำไรสุทธิของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 (2) เงินที่สถาบันการเงินนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย(3) เงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ (4) เงินโอนจากบัญชีกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ฯ

2. การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ

2.1 ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

ในเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐวิสาหกิจไม่มีการกู้เงินในประเทศ 2.2 การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

ในเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐวิสาหกิจได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศเป็นเงิน 3,780.36 ล้านบาท

2.3 การบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจเพื่อลดต้นทุนเงินกู้และป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน

ในเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่มีการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ

ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5512

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ