รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 13:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2557

Summary:

1. ธปท.เผยนักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้น

2. พาณิชย์ยันการค้าไทย-ออสซีไม่ทรุด

3.น้ำมันดิบปิดระดับสูงสุดรอบ 9 เดือน

1. ธปท.เผยนักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้น
  • โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์และฮ่องกงร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่มีความมั่นใจในเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้มีข้อสอบถามเกี่ยวกับความเข้มแข็งของการฟื้นตัวในระยะต่อไป โดยทาง ธปท.ได้ยืนยันถึงเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาในการฟื้นตัว โดยดูจากตัวชี้วัดเศรษฐกิจในเดือน มี.ค - เม.ย 57 เริ่มมีการทรงตัว โดยทางธปท.มั่นใจว่าจาก 4 เครื่องยนต์หลักคือ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และ การบริโภคและอุปโภค จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทย ดีขึ้นได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ด้านการบริโภคภาคเอกชน จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 57 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 60.7 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าอุปสงค์ในประเทศส่งสัญญาณดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อผนวกกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเช่นกัน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 57)และ สศค.จะประกาศผลการประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 27 มิ.ย. 57 นี้
2. พาณิชย์ยันการค้าไทย-ออสซีไม่ทรุด
  • นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ตามที่ออสเตรเลียประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับผู้นำกองทัพไทย โดยระงับความร่วมมือและห้ามผู้นำทางทหารของกองทัพไทยเข้าประเทศออสเตรเลียนั้น ที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 60 ปี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอและมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่ไทยได้ทำความตกลงด้านการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนกับประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วย ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย TAFTA ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ AANZFTA และการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ออสเตรเลีย การประกาศดังกล่าว เชื่อว่าจะคงไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสัมพันธ์ด้านการค้ากับไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 57 การส่งออกไทยไปยังออสเตรเลียมีสัดส่วนร้อยละ 5.2 ของมูลค่าการส่งออกไทยรวม โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ตลาดส่งออกออสเตรเลียหดตัวร้อยละ -15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ -17.1) เม็ดพลาสติก (หดตัวร้อยละ -2.8) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ขยายตัวร้อยละ 1.2) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (หดตัวร้อยละ -68.2) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ -7.3) ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การประกาศลดระดับความสัมพันธ์ของออสเตรเลียกับผู้นำกองทัพไทยจะส่งผลกระทบน้อยมากต่อความต้องการนำเข้าสินค้าไทยของออสเตรเลีย เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทยจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย และสถานการณ์ภาคการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
3. น้ำมันดิบปิดระดับสูงสุดรอบ 9 เดือน
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัส (WTI) ตลาดไนเม็กซ์ ส่งมอบเดือน ก.ค. ทะยานขึ้น 2.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปิดที่ระดับ 106.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นราคาปิดที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 56 ด้านสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3.07 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปิดตลาดที่ระดับ 113.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิรัก หลังกลุ่มนักรบนิกายสุหนี่ ภายใต้ชื่อกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ (ISIL) ได้ทำการเข้ายึดหลายเมืองและกำลังรุกคืบเข้าใกล้กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรักมากยิ่งขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทั้ง WTI และ Brent จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิรักซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตัวในช่วง 10 วันที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตของไทย ก็ได้รับผลดังกล่าวเช่นกัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Spot) เฉลี่ยหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 105.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเหตุการณ์ที่ระดับ 104.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สศค. ประเมินว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวสามารถยุติลงได้ภายใน 1-2 เดือน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 57 จะยังอยู่ในช่วงที่คาดการณ์ไว้ที่ 105.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อหรือทวีความรุนแรงกว่าที่คาดจึงจะเริ่มส่งผลต่อระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีปีนี้ อนึ่ง การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ในอิรักเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิด ทำให้ปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองนับจากนี้จะมีเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากปัจจัยความขัดแย้งในยูเครนที่ส่งผลกดดันราคาในช่วงก่อนหน้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ