รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 13:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -17.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนพ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.6
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท
  • อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 1 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกจีน เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 30 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 39.8 จุด
  • อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators        Forecast     Previous May :
TISI (Index)        90.0           84.0

จากการที่ คสช.เข้ามาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาทางด้านการเมืองและภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ โดยเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเร่งด่วนเท่าที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเรียกความมั่นใจคืนให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ให้ปรับตัวขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่สูงยังคงเป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

Economic Indicators: This Week

  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ค. 57 มีจำนวน 165,412 คัน หรือหดตัวร้อยละ -17.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -21.5 โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -21.0 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -22.6 สอดคล้องกับยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.ที่หดตัวร้อยละ -5.6 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงทั่วทุกภาคของประเทศ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวัง การใช้จ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -20.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และเหตุการณ์ทาง การเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่ส่วนอุปทานเริ่มกลับมาเปิดขายใหม่มากขึ้นสะท้อนได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน เม.ย. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่งตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตข้าวนาปรังรอบแรกที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตยางพาราและมันสำปะหลังลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ และพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงของมันสำปะหลัง ในส่วนของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน พ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.8 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลผลิตกุ้งยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท โดยทั้งสินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ อุปสงค์จากนอกประเทศที่ยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แม้ยังมีความเสี่ยงอยู่ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ และการผลักดันนโยบายของภาครัฐ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป
  • การจ้างงานเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 37.76 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.1 ล้านคน ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปี 57 มีผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.70 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.96 หมื่นคน หรือ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.1 โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานในภาคเกษตรเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่ภาคนอกภาคเกษตรมากขึ้น โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่ม 1.49 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิตมากที่สุด 7.47 แสนคน ตามดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังคงอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.62 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 84.0 จากการที่ คสช.เข้ามาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาทางด้านการเมืองและภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ โดยเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเร่งด่วน เท่าที่ผ่านมาคาดว่าน่าจะเรียกความมั่นใจคืนให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ให้ปรับตัวขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่สูงยังคงเป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 217 พันตำแหน่ง ปรับเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำกว่าเดือนก่อนซึ่งเพิ่มขึ้น 282 พันคน บ่งชี้อัตราการจ้างงานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังสภาพอากาศที่หนาวผิดปกติในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดการว่างงานประมาณ 9 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น เกิดจากตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นในภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการสุขภาพ ภาคการค้าและการขนส่งเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 57 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม ด้านยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากเดือนก่อน จากยอดขายของห้างสรรพสินค้าในหมวดเสื้อผ้า และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัว เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกหลังหักยอดขายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 1.6 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศไว้ที่ร้อยละ 1.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 30 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 39.8 จุด จากระดับ 37.0 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนมุมมองผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าในทุกหมวดที่ทรงตัวถึงเร่งขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดอาหารซึ่งเร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็น ร้อยละ 4.1 ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 11.9 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดใน 32 เดือน

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 717,100 คน เพิ่มขึ้น ประมาณ 3,200 คนจากเดือนก่อนห้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่ จำนวนผู้มีงานทำในเดือนนี้อยู่ที่ 11.6 ล้านคน ลดลงกว่า 4,800 คน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่ทรงตัวต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้คลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการว่างงาน ภายหลังจากที่อัตราการว่างงานของออสเตรเลียได้พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวมในเดือน ก.พ. 57 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนโดยยอดค้าปลีกในทุกหมวดสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น ยกเว้นหมวดอาหาร ซึ่งแม้จะขยายตัวชะลอลง แต่ยังถือว่าขยายตัวได้ในระดับสูงถึงร้อยละ 18.7 สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ทั้งนี้ เป็นผลจาก การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักทุกประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปฮ่องกงที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 58.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและพลังงานที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 และ 14.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 57 เกินดุล 8.9 พันล้านเหรียญริงกิต

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปญี่ปุ่นที่หดตัวร้อยละ -5.5 เป็นสำคัญ ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นผลจากฐานต่ำของการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 57 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 951,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 154,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 413,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Taiwan: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในส่วนที่ส่งออกไปยัง คู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ยังคงขยายตัวได้ในอัตราสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 57 เกินดุล 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนช่วงกลางสัปดาห์ และปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 12 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,457.02 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ค่อนข้างสูงถึง 54,240 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะ นักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การที่ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 57 จากร้อยละ 3.2 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในวันที่ 10 มิ.ย. 57 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติออกมาเทขายหลักทรัพย์ โดยในระหว่างวันที่ 9 - 12 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,008.62 ล้านบาท ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลดลงขณะที่ผลตอบแทนฯ ระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 4,452.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 12 มิ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.64 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของ คู่ค้าสำคัญของไทยทั้งหมด ยกเว้นค่าเงินยูโรที่มีทิศทางสวนทางอ่อนค่าขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.32 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 12 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,272.86 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,251.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ