รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 23, 2014 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2557

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 26.6 ล้านคน

2. ปลัดพาณิชย์สั่งทูตวอชิงตันเร่งชี้แจงทำความเข้าใจปมไทยถูกลดชั้นอยู่ Tier 3

3. เฟดมีมติปรับลด QE ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คงอัตราดอกเบี้ย

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 26.6 ล้านคน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยโดยรวมในปี 57 มีแนวโน้มจะเติบโตเพียงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาไทยประมาณ 26.6 ล้านคน ขยายตัวในระดับร้อยละ 0.2 และสร้างเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปี 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปี 57 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 10.4 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปีที่แล้ว จนต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค.57 และตามมาด้วย การเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พ.ค.57 ส่งผลให้บางประเทศประกาศเตือนให้พลเมืองให้ความระมัดระวังต่อสถานการณ์ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวในวันที่ 13 มิ.ย. 57 ที่ผ่านมา ประกอบกับการเร่งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน คาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 57
2. ปลัดพาณิชย์สั่งทูตวอชิงตันเร่งชี้แจงทำความเข้าใจปมไทยถูกลดชั้นอยู่ Tier 3
  • นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์(TIP Report) ที่ได้ปรับให้ไทยไปอยู่ในระดับ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ตนเองได้สั่งการให้สำนักพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ให้ความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ข้อกังวลกรณีที่สหรัฐฯอาจใช้เรื่องดังกล่าวเป็นข้ออ้างตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับสินค้าไทยนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะภายใต้กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ (Trafficking Victims Protection Act 2000:TVPA) ไม่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิประโยชน์และความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับด้านการค้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดคู่ค้าหลักอันดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 56 โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ -8.2) ผลิตภัณฑ์ยาง (ขยายตัวร้อยละ 2.8) อัญมณีและเครื่องประดับ (หดตัวร้อยละ -3.5) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ (ขยายตัว ร้อยละ 34.4) และเครื่องนุ่งห่ม (หดตัวร้อยละ -2.7) ทั้งนี้ การปรับระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยลงไปในระดับ 3 จะส่งผลลบให้สินค้าส่งออกที่ใช้แรงงานเป็นหลักหดตัวและทำให้การส่งออกไทยไปยังสหรัฐมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารทะเลกระป๋องและ แปรรูป (หดตัวร้อยละ -18.2) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 57
3. เฟดมีมติปรับลด QE ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คงอัตราดอกเบี้ย
  • คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีมติปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้วงเงินการซื้อพันธบัตรปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จากระดับ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าปรับลด QE ไปจนจบโครงการในปีนี้
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวมาระยะหนึ่งแล้ว สะท้อนได้จากดัชนี PMI ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในเดือน พ.ค.57 ดัชนี PMI มีค่าเท่ากับร้อยละ 55.4 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.57 ร้อยละ 4.3 ซึ่งตามปกติแล้วการที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวค่าเงินเฟ้อก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังไม่สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.0 จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงได้คงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0 ถึง 0.25 ซึ่งจะส่งผลดีต่อด้านการส่งออกของประเทศไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญของประเทศไทยโดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ ร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าในปี 57 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย.57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ