Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2557
1 .ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน พ.ค. 57 ลดลงร้อยละ -37.7 ต่อปี
2. ว่างงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.9
3. ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีลดลงกว่าคาดในเดือน มิ.ย. 57
- ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือน พ.ค. 57 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 69,681 คัน หดตัวร้อยละ -37.7 ต่อปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดรถยนต์สะสม 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 57) มีปริมาณการขาย 67,112 คัน หดตัวร้อยละ -42.2 ต่อปี โดยตลาดรถยนต์นั่งมีการหดตัวร้อยละ -44.4 ต่อปี ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีการหดตัว ร้อยละ -31.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากฐานการคำนวณในครึ่งปีแรกของปี 56 ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ จากการผลิตเพื่อส่งมอบตามนโยบายรถคันแรก ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการชะลอการซื้อออกไปก่อน แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 57 จะปรับตัวดีขึ้น
- บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) รายงานว่า ภาพรวมการจ้างงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 ของไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 56 และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 0.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 - 0.7 ในปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากไทยเคยมีอัตราว่างงานสูงสุดที่ร้อยละ 4 ในช่วงปี 41 -42 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นคือ ตำแหน่งงานที่ต้องการไม่ตรงกับความสามารถของแรงงานโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่ส่วนใหญ่เรียนทางสายสามัญ ในขณะที่ความต้องการแรงงานในปัจจุบันต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านไอที การเงิน และวิศวกรรม
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 57 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.62 แสนคน แต่หากพิจารณาผู้มีงานทำในตลาดแรงงานพบว่า จำนวนผู้มีงานทำในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ 37.7 ล้านคน หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลของการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือกเป็นสำคัญ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ในเกณฑ์ดีโดยขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มของสถานการณ์ด้านแรงงานไทยคาดว่าอาจมีการตึงตัวของแรงงานในบางสาขาที่มีอุปทานรองรับต่อตลาดแรงงานในบางสาขาได้ไม่ทันต่อความต้องการของภาคการผลิต และอัตราว่างงานจะอยู่ในระดับที่ทรงตัวหรือมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนแล้ว รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจการเมืองในประเทศ และเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจขยายการลงทุน ขยายงาน และรับบุคลากรเพิ่มในอนาคต
- สถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือน มิ.ย. 57 ลดลงอยู่ที่ 109.7 จาก 110.4 ในเดือน พ.ค. 57 และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ 110.2 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะทางธุรกิจในปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน หน้าที่ 114.8 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 115.0 ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มทางธุรกิจลดลงอยู่ที่ 104.8 จาก 106.2 ในเดือนที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 105.9
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือน มิ.ย. 57 ลดลงกว่ากว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึง การชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี โดยข้อมูลของ Ifo แสดงถึงบรรยากาศทางธุรกิจที่ย่ำแย่ในเยอรมนี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขจาก ZEW ที่รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงแตะระดับ 29.8 ในเดือน มิ.ย. 57 จากระดับ 33.1 ในเดือนพ.ค. 57 ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 57 ของเยอรมัน (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ระดับ 54.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.6 ขณะที่ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 52.4 และระดับ 54.8 ตามลำดับ สะท้อนภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257