รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 30, 2014 11:35 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -9.3
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 57 หดตัว ร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 57 หดตัว ร้อยละ -44.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -31.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัว ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด
  • ยอดค้าปลีกญี่ปุ น เดือน พ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมสหภาพยุโรป เดือน มิ.ย. 57 ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ระดับ 52.8
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือน มิ.ย. 57 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -7.4
  • มูลค่าการส่งออกฮ่องกง เดือน พ.ค. 57 กลับมาขยายตัว เป็นบวกที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                         Forecast    Previous
Jun :  Headline Inflation (%yoy)      2.7         2.6

โดยราคาสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูปคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามการเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.2 (mom)

Indicators                        Forecast     Previous
Jun :  Motorcycle sale (%yoy)      -15.0        -17.8

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงทั่วทุกภาคของประเทศ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวัง การใช้จ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน พ.ค. 57 มีมูลค่า 19,401.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.9 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -2.6 จากการหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -2.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ตามการหดตัวของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ -3.6 และ -6.8 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 0.5 และ 6.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.1 และปริมาณการส่งออกหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -1.1 ส่งผลให้มูลค่า การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน พ.ค. 57 มีมูลค่า 20,210.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.5 ตามการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -14.8 และสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -11.3 รวมถึงสินค้ายานยนต์ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -25.8 ในขณะที่สินค้าเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 3.3 หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -9.7 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวร้อยละ -0.3 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -9.0 จากการที่มูลค่าการส่งออกต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 57 ขาดดุล -0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ และอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์จากการลดลงของตลาดภายในประเทศเป็นสำคัญ ประกอบกับปัจจัยฐานของปีก่อนที่การเร่งผลิตตามโครงการรถยนต์คันแรก และอุตสาหกรรมเครื่องประดับหดตัวเนื่องจากการปรับลดลงของราคาทองคำ ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารลดลงจากปัญหาโรคระบาดในกุ้งและความผันผวนของราคาปลาทูน่า ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีจากระบบธรรมดาเป็นระบบดิจิทอล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นที่ขยายตัวได้ คือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแบบเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่า หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -1.3
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 39,330 คัน หรือหดตัวร้อยละ -44.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -34.4 ส่วนหนึ่งจากฐานการคำนวณในครึ่งปีแรกของปี 2556 ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ จากการผลิตเพื่อส่งมอบตามนโยบายรถคันแรก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -50.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 40,351 คัน หรือหดตัวร้อยละ -31.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -32.3 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -33.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -35.0 ตามการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศเนื่องจากมีการเร่งการลงทุนไปแล้วในปีก่อน ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปก่อน ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 57 ปริมาณ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -34.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6 โดยราคาสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูปคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามการเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.2 (mom)
  • ปริมาณการจำหน่ายจักรยานยนต์ ในเดือน มิ.ย.57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อย -17.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงทั่วทุกภาคของประเทศ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวัง การใช้จ่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าตัวเลขที่ประกาศก่อนหน้านี้ผลจากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงมากจากสภาวะอากาศหนาวเย็นผิดปกติ โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 และ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ยอดขายบ้านมือสอง เดือนพ.ค. 57 อยู่ที่ 472,000 หลัง คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.9 จากเดือนก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ราคากลางบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 213,400 ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับก่อนวิกฤติซับไพรม์ หรือขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดขายสินค้าในหมวดยานยนต์และเครื่องจักรที่หดตัวเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 34 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรืออยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาสินค้าหมวดอาหารและคมนาคมขนส่งที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 57 ปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม สะท้อนตลาดการจ้างงานภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องและมีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นสำคัญ

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 7 เดือน และเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนสภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีสัญญาณกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -7.4 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวนับตั้งปี 43 ที่ระดับ -13.3 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ระดับ 52.8 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 51.9 และระดับ 52.8 ตามลำดับ สะท้อนภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณชะลอลง โดยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตในเยอรมนี ขณะที่ ภาคการผลิตในประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะฝรั่งเศสส่งสัญญาณการหดตัวที่เร่งตัวขึ้น

Singapore: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 หดตัวตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากการผลิตสินค้าในหมวดเครื่องหนังและเวชสำอางที่หดตัวเร่งขึ้นร้อยละ -36.1 และ -11.9 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.5 จากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.9

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.4 จากราคาอาหารที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.3

Philippines: mixed signal

มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 ผลจากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -3.1 ดุลการค้าเดือน เม.ย. 57 ขาดดุล -765.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Vietnam: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.7 จากราคาสินค้าทุกหมวดขยายตัวเร่งขึ้น

Hong Kong: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 57 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญในเอเชียที่ขยายตัวได้ดี อาทิ การส่งออกไปญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และจีนขยายตัวร้อยละ 11.9 9.5 7.6 และ 3.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน อนึ่งการส่งออกที่มีมูลค่าน้อยกว่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 57 ขาดดุล 42 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาอาหารและค่าใช้จ่ายด้านคมนาคมที่เพิ่มขึ้น

Taiwan: mixed signal

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 อยู่ระดับ 109.6 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากภาคการผลิต (สัดส่วนร้อยละ 93 ของภาคอุตสาหกรรมรวม) ขยายตัวดีขึ้นมาก อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี จากผู้ว่างงานอายุ 15-24 ปีที่มีจำนวนลดลงเป็นสำคัญ ทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.6 แสนคน

South Korea: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 กลับมาหดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและผลผลิตไฟฟ้าที่หดตัว

Weekly Financial Indicators

  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 26 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,477.48 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเบาบางลงจากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 36,640 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ จากการทำ Window Dressing ก่อนสิ้นครึ่งแรกของปี ขณะที่มีแรงขายจากนักลงทุนประเภทอื่นทั้งหมด ส่วนหนึ่งจากความกังวลในประเด็นที่ EU ประกาศระงับการเยือนและลงนามความร่วมมือกับไทยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 57 ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 23 - 26 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,805.16 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย ประมาณ 1-4 bps โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 มิ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 2,602.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 26 มิ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.25 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่สวนทางกับค่าเงินสกุลสำคัญอื่นๆ ที่มีทิศทางอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ และลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 26 มิ.ย. 57 ปิดที่ 1,317.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,317.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ