Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2557
Summary:
1. 5 เดือนปริมาณส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3
2. ธปท. ปรับคาดการณ์ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5
3. ว่างงานสหรัฐฯ ลดลงครั้งแรกในรอบสัปดาห์
1. 5 เดือนปริมาณส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3
- สภาผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 มีปริมาณทั้งสิ้น 3.82 ล้านตัน มูลค่า 63,075 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ19.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 56 ที่มีการส่งออกปริมาณ 2.51 ล้านตัน มูลค่า 52,984 ล้านบาท ซึ่งในเดือน พ.ค. 57 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.57 ที่ผ่านมา สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าวในเดือน มิ.ย. ราคาข้าวไทยมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายเดือน พ.ค. หลังจากทางราชการมีการทบทวนมาตรการระบายข้าวจากสต็อกรัฐบาล ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดเริ่มตึงตัว ประกอบกับมีความต้องการข้าวจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกข้าวในเดือน พ.ค.57 มีมูลค่าอยู่ที่ 430.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น (1) ข้าวขาวจำนวน 157.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.5 ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมด ขยายตัวร้อยละ 44.3 จากการส่งออกข้าวไปยังจีน อังโกลา และฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้น (2) ข้าวหอมมะลิจำนวน 105.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.6 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด หดตัวร้อยละ -21.6 จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีนที่ลดลง และ (3) ข้าวนึ่งจำนวน 110.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.6 ของมูลค่าการส่งออกข้าวรวม ขยายตัวร้อยละ 71.2 จากตลาดเบนิน และไนจีเรีย ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกข้าวทั้งหมดในเดือนนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณส่งออกข้าวเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่ามาจากการระบายสต๊อกข้าวจากนโยบายรับจำนำข้าว ขณะที่ราคาข้าวเปลือก ในตลาดโลกยังมีทิศทางหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เบนิน (ขยายตัวร้อยละ 44.6) จีน (ขยายตัวร้อยละ 232.2) ไนจีเรีย (ขยายตัวร้อยละ 252.2) ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวที่หดตัว ได้แก่ สหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ -11.8) และแอฟริกาใต้ (หดตัวร้อยละ -19.5)
2. ธปท. ปรับคาดการณ์ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5
- นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง. ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 57 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 เนื่องจากครึ่งปีแรกหดตัวในอัตราร้อยละ 0.5 แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวแบบ V Shape ทำให้กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.4 ส่วนในปี 58 คาดว่า GDP จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 5.5 ปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมานโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เร่งผลักดันการใช้จ่ายภาครัฐให้เร็วกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 57 ที่หดตัวลงร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการใช้จ่ายภายในประเทศจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ด้านการบริโภคภาคเอกชน จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 57 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 60.7 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง จากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าอุปสงค์ในประเทศส่งสัญญาณดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อผนวกกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเช่นกัน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัว ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.00 จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)และ สศค.จะประกาศผลการประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน ก.ค. 57 นี้
3. ว่างงานสหรัฐฯ ลดลงครั้งแรกในรอบสัปดาห์
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 57 ปรับตัวลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 312,000 รายซึ่งปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 310,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ซึ่งสามารถวัดแนวโน้มตลาดแรงงานได้ดีกว่าเพราะมีความผันผวนน้อยกว่าตัวเลขรายสัปดาห์นั้น ปรับตัวขึ้น 2,000 ราย แตะระดับ 314,250 ราย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ปรับตัวลดลงนั้น สะท้อนตัวเลข การจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยที่ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตได้ร้อยละ 2.4 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) อย่างไรก็ตามจำนวนผู้มาขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นก็ยังคงสูงกว่าที่คาดไว้ แต่เมื่อดูที่รายละเอียดจะพบว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 217,000 ตำแหน่ง เป็นตัวเลขที่สูงเกิน 200,000 ตำแหน่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนการฟื้นตัว ที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และอำนาจซื้อของคนในประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทยเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญโดยที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด กอปรกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ ปีที่แล้วจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของประเทศไทยได้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257