ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)ไตรมาสที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2557) และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 30, 2014 16:15 —กระทรวงการคลัง

ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)

ไตรมาสที่ 2 (มกราคม – มีนาคม 2557) และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557

“การใช้จ่ายของภาคสาธารณะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557 ว่า ภาคสาธารณะขาดดุลการคลัง 55,196 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 19,891 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขาดดุลของรัฐบาล และในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - มีนาคม 2557) ภาคสาธารณะมีรายได้ 3,577,338 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 22,694 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 เป็นผลจาก อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 3,990,465 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 158,205 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 โดยเป็นผลจากทั้งรัฐบาล อปท. และรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 413,127 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 135,511 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.8 ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายจากดอกเบี้ย) ขาดดุล 315,030 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.0 ของ GDP)

นายเอกนิติฯ สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาคสาธารณะในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 สะท้อนให้เห็นว่าภาคสาธารณะยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ในขณะที่ภาคเอกชนชะลอตัวลง”

1. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557 (มกราคม - มีนาคม 2557) มีรายได้ 1,734,829 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10,911 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 และมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,790,025 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 64,176 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 55,196 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 19,891 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายจากดอกเบี้ย) ขาดดุล 12,543 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP (รายละเอียดตามตารางที่ 1) ดังนี้

1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 577,914 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันที่แล้ว 18,926ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 480,563 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8,041 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 เนื่องจากรัฐบาลจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 97,351 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10,885 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2556 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ดำเนินการเพิ่มทุนให้หมู่บ้านเสร็จสิ้นไปแล้ว ทำให้ปี 2557 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลลดลง

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 659,506 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 14,126 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 ประกอบด้วย

  • รายจ่ายรัฐบาล 586,503 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11,825 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557 การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2557 ได้ดำเนินการเบิกจ่ายไปในไตรมาสแรก จำนวน 111,802 ล้านบาท ในขณะที่ปีงบประมาณ 2556 รายจ่ายดังกล่าวมีการเบิกจ่ายสูงถึง 67,818 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2
  • รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,820 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 544 ล้านบาท และการเบิกจ่ายในโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 566 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 1,766 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 810 ล้านบาท รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 535 ล้านบาท และรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 324 ล้านบาท
  • รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 68,558 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,425 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 สาเหตุหลักเป็นผลจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 81,592 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 4,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3

1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 139,923 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1,854 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้เพิ่มขึ้น 24,649 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ในส่วนของรายได้จากเงินอุดหนุนลดลง 23,903 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29 เนื่องจาก อปท. ได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนไปแล้วในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 123,390 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11,683 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 16,533 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP) เกินดุลต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9,829 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.3

1.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้จำนวน 1,152,299 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13,011 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 โดยมีสาเหตุหลักจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลงจำนวน 12,299 ล้านบาท และมีรายจ่ายรวม 1,142,436 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 47,447 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 ซึ่งมีรายจ่ายลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,040 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 4,973 ล้านบาท จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจเกินดุลทั้งสิ้น 9,863 ล้านบาท เกินดุลต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 60,458 ล้านบาท หรือร้อยละ 86

2. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - มีนาคม 2557) มีรายได้ 3,577,338 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 22,694 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 เป็นผลจาก อปท และรัฐวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 3,990,465 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 158,205 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 เนื่องจากรัฐบาล อปท. และรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 413,127 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของ GDP โดยขาดดุลสูงกว่าจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 135,511 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.8 ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายจากดอกเบี้ย) ขาดดุล 315,030 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.0 ของ GDP (รายละเอียดตามตารางที่ 2) ดังนี้

2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 1,216,594 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 68,929 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 999,497 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8,642 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 เนื่องจากกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตรถยนต์ได้ลดลง ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ของรถยนต์ในประเทศหดตัวลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 217,097 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 60,287 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.7 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2556 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ดำเนินการเพิ่มทุนให้หมู่บ้านเสร็จสิ้นแล้ว ส่งผลให้ปีงบประมาณ 2557 ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลลดลง

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 1,686,891 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 57,204 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 ประกอบด้วย

  • รายจ่ายรัฐบาล 1,418,024 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 43,448 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 โดยมีสาเหตุหลักจากการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น
  • รายจ่ายเงินกู้ ได้แก่ 1) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 4,102 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท โดยมีการเบิกจ่ายสูงถึง 1,552 ล้านบาท และ 1,936 ล้านบาท ตามลำดับ 2) รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 3,918 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 1,465 ล้านบาท 3) รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 1,112 ล้านบาท และ 4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 619 ล้านบาท
  • รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 259,116 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว21,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายหนี้สินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น

ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 470,297 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 126,133 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.6

2.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 331,755 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 54,034 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.5 มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้และเงินอุดหนุน จำนวน 24,603 และ 21,731 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 29.1 และ 15.9 ตามลำดับ เนื่องจาก อปท. มีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดสรรให้ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งในปีที่แล้ว อปท. ได้รับรายได้ดังกล่าวในช่วงไตรมาสที่ 3 ในขณะที่รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 241,299 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 32,594 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.6 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 90,456 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21,440 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.1

2.3 ฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีรายได้จำนวน 2,368,405 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 เนื่องจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีรายจ่ายรวม 2,401,691 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 39,366 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ มีรายจ่ายลงทุนที่สำคัญคือ โครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 19,418 ล้านบาท ซึ่งจากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจขาดดุลทั้งสิ้น 33,286 ล้านบาท ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 30,818 ล้านบาท

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ