รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 1, 2014 11:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. ททท. ประชุมร่างแผนปี 58 มั่นใจยังรักษาฐานนักท่องเที่ยวที่ 26.3 ล้านคน

2. ธปท.ชี้ครัวเรือนเปราะบาง

3. บีไอเอส'แนะทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจฟื้น

1. ททท. ประชุมร่างแผนปี 58 มั่นใจยังรักษาฐานนักท่องเที่ยวที่ 26.3 ล้านคน
  • นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวในการประชุมแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำปี 58 เพื่อกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้นักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ว่าภาพรวมตลาดต่างประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากสถานการณ์ทางการเมืองแต่เชื่อว่าจะยังสามารถรักษาฐานตลาดนักท่องเที่ยวได้เท่ากับปีที่ผ่านมาที่ 26.3 ล้านคน ขณะที่ตลาดคนไทยยังมีแนวโน้มการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยได้เร่งทำความเข้าใจกับทูตต่างประเทศรวมถึงกระชับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมั่นใจว่า ในปี 2558 การท่องเที่ยวในภาพรวมจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน พ.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.7 ล้านคนหดตัวร้อยละ -10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและหดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวมากที่สุดได้แก่ จีน มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นหลัก โดยเฉพาะจีน (สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวร้อยละ 17.5) และสิงคโปร์ (สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวร้อยละ 11.5) หดตัวร้อยละ 0.4 และ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้แก่ ลาว อังกฤษและเวียดนามซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 30.3 14.1 และ 7.8 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 5 เดือนของปี 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 10.4 ล้านคน หดตัวร้อยละ -5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ 4.80 แสนล้านล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.9 ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ในปี 57 จำนวนท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะมีจำนวนทั้งสิ้น 27.5 ล้าน หรือขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และคาดว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 1.28 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี
2. ธปท.ชี้ครัวเรือนเปราะบาง
  • รายงานนโยบายการเงินเดือน มิ.ย.57 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินโดยรวมเปราะบางมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สะท้อนจากรายได้ภาคครัวเรือนและความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจที่ด้อยลง ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลง สำหรับภาคครัวเรือน พบว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น สะท้อนจากรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนปรับชะลอลงต่อเนื่องทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการก่อหนี้ใหม่ลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ปัญหาการเมืองคลี่คลายประกอบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศและดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น และมีการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งชำระหนี้มากขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชิ่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 70.7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.อยู่ที่ร้อยละ 85.1 ปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กอปรกับการที่ กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.00 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย 57 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ทั้งปี 2557 อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.00 เช่นเดิม (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
3. บีไอเอสแนะทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจฟื้น
  • ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ บีไอเอส เตือนให้รัฐบาลชาติต่างๆ ยกเลิกนโยบายลดดอกเบี้ยในอัตราต่ำมากจนเกือบถึงร้อยละ0 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นแล้ว โดยมองว่าหากยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปนานกว่านี้อาจส่งผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามอีกทั้งยังระบุด้วยว่า แม้การปรับดอกเบี้ยสู่ระดับปกติอาจยากลำบาก แต่ก็ไม่ควรลังเลที่จะดำเนินการ และไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากดำเนินการช้าเกินไปและน้อยเกินไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจได้แก่ประเทศ ในกลุ่มยูโรโซนซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 0.0-0.1 สหรัฐฯอยู่ที่ร้อยละ 0-0.25 จีนอยู่ที่ร้อยละ 3.0ในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังคงเป็นระดับที่เหมาะสมเนื่องจากเศรษฐกิจของหลายๆประเทศยังอยู่ในช่วงของการเริ่มฟื้นตัวและสำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องในปี 57 โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 อันเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลงภายหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเริ่มหมดลง อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศอาจต้องรอให้ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนการบริโภคการลงทุนขยายตัวรวมทั้งให้การฟื้นตัวมีทิศทางที่ดีมากขึ้นแล้วจึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ BIS แนะนำ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ