Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2557
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 65.3 จุด
2. ดัชนีผู้จัดารฝ่ายซื้อภาคบริการ (Service PMI) ของจีน เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด
3. ยอดค้าปลีกของออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประกาศ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 65.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 60.7 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยรวมที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ขณะที่ปัจจัยลบเกิดจาก (1) การที่ทางการสหรัฐฯ ได้ปรับลดอันดับประเทศไทยสู่ระดับต่ำสุด (Tier 3) ในรายงานการค้ามนุษย์ (2) ราคาพืชผลทางการเกษตรยังคงอยู่ในระดับต่ำ (3) ผู้บริโภคยังวิตกกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้า และ (4) ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ซึ่งได้มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยในเบื้องต้นได้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน เช่น การเร่งจ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่อยู่ภายใต้โครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ 56-57 เป็นต้น ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความแน่นอนมากขึ้นดังกล่าว ยังได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 57 ที่อยู่ที่ระดับ 85.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 84.0 จุด นอกจากนี้ เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวเช่นกัน อาทิ ยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน พ.ค. 57 ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ภายหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.2 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีผันผวนจากสถานการณ์ทางการเมืองในอิรัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไปได้ จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด
- HSBC เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการ (Service PMl) ของจีน เดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.1 จุด จาก 50.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 15 เดือน โดยดัชนีฯ ที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคบริการ ทำให้ดัชนีผู้จัดารฝ่ายซื้อรวมอยู่ที่ระดับ 52.4 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.2 ในเดือนก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการของจีนในเดือน มิ.ย. 57 ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือนนั้น เป็นผลจากดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตาม (1) ปริมาณกิจกรรมของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น (2) ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 และ (3) ดัชนีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 10 สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมภาคบริการของจีนที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 55 ที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจในจีน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนการพึ่งพาอันดับหนึ่งในปี 55 ถึงร้อยละ 46.1 ของ GDP ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีฯที่อยู่ในระดับดีต่อเนื่องดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป
- ยอดค้าปลีกของออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการขยายตัวชะลอลงของยอดขายในหมวดสินค้าทุกประเภท โดยเฉพาะหมวดอาหาร (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 41.0 ของยอดค้าปลีกรวมปี 56) ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ทั้งนี้ เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีกหดตัวร้อยละ -0.5 สืบเนื่องจากยอดขายในหมวดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่หดตัวเร่งขึ้น และการกลับมาหดตัวของยอดขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า เป็นสำคัญ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียเดือน พ.ค. 57 ที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนนั้น ถือเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือน โดยมีปัจจัยหลักมาจาก (1) การประกาศลดงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราจ้างงานใหม่ของพนักงานของรัฐ ซึ่งได้มีแผนที่จะแผนปรับลดต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี จนถึงปีงบประมาณ 60-61 ซึ่งได้ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจในประเทศลดลง และอาจส่งผกระทบต่อปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในระยะต่อไป และ (2) สภาวะอากาศที่ค่อนข้างร้อนในช่วงเดือน พ.ค. แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูหนาว ทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ และสินค้าที่ใช้ในฤดูหนาวลง ซึ่งเป็นผลให้ยอดค้าปลีกหมวดเสื้อผ้า เครื่องประดับ และสินค้าในห้างสรรพสินค้าหดตัวถึงร้อยละ -2.3 และ -2.6 จากเดือนก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ -0.2 และ 2.7 ในเดือนก่อน ตามลำดับ
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257