Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2557
Summary:
1. หอการค้าไทยคาดเงินสะพัดวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษากว่า 5.2 พันล้านบาท
2. KBANK ปรับเพิ่มกรอบประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.3
3. FED มีแผนเลิก QE ต.ค. 57 นี้
1. หอการค้าไทยคาดเงินสะพัดวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษากว่า 5.2 พันล้านบาท
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันหยุดอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาปี 57 โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดสูงถึง 5,261 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการฟื้นตัวของกำลังซื้อและความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ ของการจับจ่ายใช้สอยในทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีทิศทางดีขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงที่ผ่านมาได้คลี่คลายลง โดยล่าสุด การบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวทั้งการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการจัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 60.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 57 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่มีการเริ่มทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาแล้วบางส่วน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8-2.8 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ค. 57
2. KBANK ปรับเพิ่มกรอบประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.3
- ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK บอกว่า ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (57) มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงครึ่งปีแรก จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 พร้อมกับการจัดทำงบประมาณปี 2558 ของ คสช. ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ รวมถึงการเร่งอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ให้เติบโตได้ร้อยละ 4.3 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 2557 เติบโตได้ร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.8
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง โดยเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายในประเทศเริ่มดีขึ้น ขณะที่วิกฤติการเมืองคลี่คลาย ทำให้การใช้จ่ายรัฐเร่งขึ้น และเอกชนมั่นใจขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 60.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 85.1 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนเนื่องมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งช่วยส่งเสริมด้านการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐโดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2557 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
3. FED มีแผนเลิก QE ต.ค. 57 นี้
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยข้อความตอนหนึ่งในรายงานการประชุม ระบุว่า "หากเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าอย่างที่คณะกรรมการคาดหมาย การลดระดับครั้งสุดท้ายอาจเกิดขึ้นตามหลังการประชุมประจำเดือน ต.ค. 57" สะท้อนว่า FED มีแผนหยุดเข้าซื้อพันธบัตร และนอกจากนั้น FED ยังเตรียมออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของตลาดแรงงานและภาวะเงินเฟ้อกลับคืนสู่เป้าหมายระยะยาว
- สศค. วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 52 เป็นต้นมา FED ใช้มาตรการ QE แล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึงเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท) ขณะเดียวกัน สหรัฐยังใช้มาตรการกดดอกเบี้ยให้ต่ำใกล้ศูนย์ ซึ่งนับเป็นการกระตุ้นให้มีการกู้เงินจากธนาคารมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงมากกว่าเงินฝาก ทั้งสองมาตรการนับเป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนจาก ตัวเลขการจ้างงานในเดือน มิ.ย. 57 ที่ เพิ่มขึ้น 2.8 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้สัดส่วนการว่างงานของสหรัฐลดลงไปอยู่ที่ระดับ 6.1% ซึ่งนับว่าต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 51 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจสหรัฐในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ2.4 ต่อปี โดยจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ค. 57
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257