รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2014 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์เผยขึ้น VAT ปี 58 ไม่ทำให้การบริโภคชะลอ ส่วนเงินเฟ้อกระทบเล็กน้อย

2. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0

3. สหรัฐฯ - อียู ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่

1. พาณิชย์เผยขึ้น VAT ปี 58 ไม่ทำให้การบริโภคชะลอ ส่วนเงินเฟ้อกระทบเล็กน้อย
  • กระทรวงพาณิชย์เผยขึ้น VAT ปีหน้าเป็นร้อยละ 10.0 เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว เชื่อไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค ระบุแม้ขึ้น VAT สินค้าไม่จำเป็นต้องขึ้นยกแผง เหตุต้องดูต้นทุนการผลิตอื่นๆ ประกอบด้วย ส่วนเงินเฟ้อคาดได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58 จนสิ้นปี 58 หรือผลกระทบเพียงแค่ 3 เดือน แต่หากคำนวณในภาพรว ม 12 เดือน หรือทั้งปี จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ1.2 ส่วนสาเหตุที่กระทบเงินเฟ้อ เพียงเล็กน้อย เนื่องจากสินค้าที่ใช้คำนวณในตะกร้าเงินเฟ้อสัดส่วนเกือบร้อยละ 50.0 ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กลุ่มอาหารสด และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงว่าหากผู้บริโภครับรู้ว่าสินค้าจะแพงขึ้นจะมีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติก่อนถึงวันที่ 1 ต.ค. 58 และอาจเป็นปัจจัยแฝงที่ทำให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้นมาโดยที่ไม่เกี่ยวกับการขึ้น VAT เลย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มอัตราภาษี VAT จากร้อยละ 7.0 เป็นร้อยละ 10.0 ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 จะส่งผลกระทบเชิงพลวัตทำให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 จากกรณีฐานปี 58 เนื่องจากคาดว่าจะมีการเร่งการบริโภค-กักตุนสินค้าก่อนที่จะมีการขึ้น VAT จริง ดังกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่มีการเร่งการบริโภคในไตรมาสก่อนหน้าที่จะมีการขึ้น VAT จริง (เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57) แต่การบริโภคจะหดตัวลงในปี 59 ร้อยละ -0.97จากการที่อุปสงค์ภาคเอกชนลดลงจากผลด้านราคา รวมถึงปัจจัยฐานสูงจากการเร่งบริโภคไปในช่วงก่อนการขึ้นอัตราภาษีนั่นทำให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 58-59 จะลดลงร้อยละ -0.82 สำหรับ Real GDP ไทยในปี 58 คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับกรณีฐาน เนื่องจากผลด้านลบจากการลดลงของการบริโภคหลังการขึ้น VAT ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 58 จะถูกชดเชยด้วยผลด้านบวกจากการเร่งการบริโภค-กักตุนสินค้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ปี 58 อย่างไรก็ดี Real GDP ไทยในปีถัดมา (ปี 59) จะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ -0.26 จากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ นั่นทำให้ผลกระทบโดยรวมของการขึ้น VAT ต่อ Real GDP ปี 58-59 เติบโตลดลงจากกรณีฐานร้อยละ -0.25
2. สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0
  • นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยบวกจาก อาทิ 1. เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน และสหรัฐฯ มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก 2.ความสามารถในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในประเทศที่คล่องตัวมากขึ้น และ 3. ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะเติบโตที่ร้อยละ 2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก สถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนเพิ่มขึ้น กอปรกับการเร่งรัดการเบิกจ่าย และการจัดทำงบประมาณปี 58 รวมไปถึงงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ที่ระดับ 65.3 จุด ในเดือน มิ.ย. 57 ทั้งนี้สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 ในเดือน ก.ค. 57 นี้ จากที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 - 3.1 (ประมาณการ ณ เดือน มี.ค. 57)
3. สหรัฐฯ - อียู ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่
  • สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป (อียู) ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย หลังรัสเซียกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในยูเครน ด้านผู้นำรัสเซียชี้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นการทำร้ายตัวเอง ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า การคว่ำบาตรในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อให้ผู้นำรัสเซียได้เห็นถึงผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว โดยมีทั้งการทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียอ่อนแอลง และการโดดเดี่ยวทางการทูตกับรัสเซีย สำหรับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจดังกล่าว จะพุ่งเป้าไปยังบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย 2 แห่ง ได้แก่ โอเอโนวาเทค และ รอสเนฟท์ สถาบันทางการเงินอีก 2 แห่ง ได้แก่ ก๊าซปรอมแบงค์และ วีอีบี และยังรวมไปถึงบริษัทผลิตอาวุธอีก 8 แห่ง ขณะที่ผู้นำอียู ได้สั่งให้ธนาคารเพื่อการลงทุนและธนาคารเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ของยุโรป ระงับข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในครั้งนี้ของสหรัฐฯ และอียู นับเป็นครั้งแรกที่พุ่งเป้าโดยตรงต่อภาคธนาคาร และภาคพลังงานของรัสเซีย เพื่อให้เศรษฐกิจรัสเซียเข้าสู่สภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี รัสเซียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (467.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มากเป็นอันดับ 5 ของโลก)และแหล่งพลังงานสำรองจำนวนมาก (60 ,000 ล้านบาร์เรล) สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้ผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่จะเกิดกับรัสเซียจึงจำกัดขอบเขตเฉพาะภาคการลงทุนจากการขาดไปซึ่งนักลงทุนจากทั้งทางสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงนักลงทุนจากประเทศอื่นที่มีความกังวลต่อสภาวะการณ์ที่ไม่สงบ ในทางกลับกัน อียูซึ่งมีการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณที่สูง (ราวร้อยละ 30 ของปริมาณการนำเข้ารวม) อาจได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียตอบโต้ด้วยการลดการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงต่างๆ ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะเห็นได้ว่า ผลเสียจากการคว่ำบาตรเกิดขึ้นต่อทั้งสองฝ่าย ประเด็นนี้ สศค. จะติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบผ่านช่องทางของราคาพลังงานและ อุปสงค์จากประเทศคู่กรณี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ