รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 - 18 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2014 11:11 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน มิ.ย.57 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวร้อยละ -13.5
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1
  • GDP จีน ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว)
  • มูลค่าการส่งออกสหภาพยุโรป เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators            Forecast   Previous
Jun :  TISI (Index)      89.0      85.1
  • จากความชัดเจนทางการเมืองที่มีคสช.เข้ามาดำเนินการบริหารประเทศ คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ให้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่สูงยังคงเป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มิ.ย. 57 ได้จำนวน 192.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 16.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลง ร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับลดอัตราภาษี และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าที่ชะลอลง ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56 - มิ.ย. 57) ได้จำนวน 1,552.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 110.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 6.6
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน มิ.ย.57 มีมูลค่า 54.0 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่กลับมาหดตัว ร้อยละ -3.8 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -10.3 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นไปมากในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน พ.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในไตรมาสที่ 2 ปี 57 หดตัวร้อยละ -7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน มิ.ย.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน หรือหดตัว ร้อยละ -24.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ -11.0 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ส่งผลทำให้ไตรมาสที่ 2/57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.32 ล้านคน หดตัวร้อยละ -12.3เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวมากที่สุดได้แก่ กลุ่มเอเชีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปยังคงขยายตัว
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -3.1 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดลดลง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่อุปทานเริ่มกลับมาชะลอตัว สะท้อนได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน พ.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) หดตัวที่ร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรัง ที่อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวของรอบที่ 1 สอดคล้องกับผลผลิตข้าวโพดที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราและมันสำปะหลังกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง ทำให้ผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้น ในส่วนของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน มิ.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ หดตัวร้อยละ -8.6 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลผลิตกุ้งขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.0 เนื่องจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 89.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.1 จากความชัดเจนทางการเมืองที่มี คสช.เข้ามาดำเนินการบริหารประเทศ คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ให้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่สูงยังคงเป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถยนต์และเชื้อเพลิงที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานสูงในปีก่อน ทั้งนี้ หากเทียบกับเดือนก่อนพบว่าผลผลิตฯ ขยายตัวร้อยละ 0.2 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากผลผลิตเครื่องมือเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว

Japan: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตสินค้าในหมวดเหล็กและเหล็กกล้า สิ่งทอ อาหารและยาสูบ ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ

China: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร่งขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังสนับสนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทางการจีนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อาทิ การเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐ และการลดอัตราเงินสดสำรองของสหกรณ์และธนาคารพาณิชย์ในเขตชนบท ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 12.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดค้าปลีกในหมวดธุรกิจจัดเลี้ยงอาหาร หมวดสินค้าอุปโภค และยานยนต์ขยายตัวได้ดีสำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 8.8 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยการผลิตสินค้าหมวดชิ้นส่วนยานพาหนะ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวได้ดี ราคาบ้าน เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยราคาบ้านใน 69 เมืองจาก 70 เมืองเพิ่มขึ้น ในอัตราที่ชะลอลงมาก เป็นสัญญาณว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลงต่อเนื่อง โดยราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น กวางโจว เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง ขยายตัวร้อยละ 7.7 ร้อยละ 7.1 ร้อยละ 6.5 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 57 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 57 ยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องที่ 15.4 พันล้านยูโร ด้านเสถียรภาพภายในภูมิภาค อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ตั้งไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 2.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 สะท้อนว่ายูโรโซนมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางภาพรวมเศษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะสถานการณ์ในตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงถึงกว่าร้อยละ 11.7 ของกำลังแรงงานรวม

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น เป็นสำคัญ

Singapore: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง และภาคบริการที่ขยายตัวชะลอลง ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 57 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดขายสินค้าในหมวดอาหารและเวชภัณฑ์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2 และ 3.4 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.2 จากการส่งออกไปยังมาเลเซียที่ขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 18.2 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -1.7 ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 57 เกินดุล 5.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากกำลังแรงงานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ตามจำนวนแรงงานจบใหม่ที่เพิ่มขึ้น

South Korea: improving economic trend

อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม บริการสุขภาพ ภัตตาคาร โรงแรม และบริการด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีผู้จบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นก็ตาม

India: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 57 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าปิโตรเลี่ยม และเครื่องหนังที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1.2 หมื่นล้านรูปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าภาคการผลิตที่ขยายตัวเร่งขึ้น และผลผลิตสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากราคาสินค้าที่ปรับลดลงในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหาร

United Kingdom: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องแต่งกายซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 6.6 ในเดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 17 ก.ค. 57 ปิดที่ 1,535.66 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 45,790 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ จากการที่ Fed ส่งสัญญาณยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึง GDP จีนในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ที่ขยายตัวมากกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจที่จะลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 5,185.76 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนทุกช่วงอายุ ประมาณ 0.5-9.5 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิสูงขึ้นถึง 22,849.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 17 ก.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน สวนทางกับทิศทางค่าเงินสกุลอื่นทั้งหมด ยกเว้น ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.40 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 17 ก.ค. 57 ปิดที่ 1,317.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,306.84 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ