Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2557
Summary:
1. สศช.คาดส่งออก H2/57 ฟื้นโตร้อยละ 6.0-7.0 ดัน GDP ทั้งปีโตได้ร้อยละ 3.0
2. บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปี 57
3.'บริคส์' เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโลก
1. สศช.คาดส่งออก H2/57 ฟื้นโตร้อยละ 6.0-7.0 ดัน GDP ทั้งปีโตได้ร้อยละ 3.0
- รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 3.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5-2.5 เนื่องจากประเมินว่าครึ่งปีหลัง การส่งออกจะฟื้นขึ้นมาเติบโตในระดับสูงถึงร้อยอละ 6.0-7.0 ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0-5.0 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้อีกประเด็นหนึ่งคือผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตัวอ่อนค่า
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ 92,862.12 ล้านเหรียญสหรัฐ หดร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหดตัวของสินค้าหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง (หดตัวร้อยละ-14.8) อุตสาหกรรมการเกษตร (หดตัวร้อยละ -8.3) และเกษตรกรรม (หดตัวร้อยละ -2.2) ประกอบกับเศรษฐกิจตลาดส่งออกหลักของไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและอาเซียนมีทิศทางชะลอลงทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 57 คาดว่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของ ปี 57 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 15 ที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงตลาดอินโดจีน (CLMV) ที่เป็นตลาดส่งออกใหม่ที่สำคัญในการส่งออกไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 57 มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 - 7.0 คาดการณ์ ณ มี.ค.57 และจะมีการปรับการคาดการณ์อีกครั้งในเดือน ก.ค. 57)
2. บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปี 57
- นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) เปิดเผยผลศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยประจำปี 2557 โดยการสำรวจนักลงทุน 600 บริษัท ที่ได้รับและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 98 มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 74 มีแผนที่จะรักษาระดับการลงทุนในประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนร้อยละ 24 มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่อาจลดระดับการลงทุนมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น และไม่ปรากฏว่ามีนักลงทุนรายใดเตรียมถอนการลงทุนไปจากประเทศไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยเกิดจากปัญหาความ ไม่สงบทางการเมืองที่คลี่คลายลงแล้วจากการเข้ามาบริหารราชการของคสช. กอปรกับประเทศไทยมีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งลงทุน ค่าจ้างแรงงานฝีมือมีความเหมาะสม รวมถึงมีวัตถุดิบที่เพียงพอ และสาเหตุส่วนหนึ่งที่ไม่มีนักลงทุนรายใดถอนการลงทุนจากประเทศไทยเนื่องจาก บอร์ดบีโอไอได้มีการอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่คั่งค้างได้ร้อยละ 35 และอนุมัติอีก 15 โครงการขนาดใหญ่ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 51,526 ล้านบาท ทำให้ส่งผลดีต่อนักลงทุนโดยตรง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจเพิ่มการลงทุนและยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคที่จะมีรายได้หรือการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 2557 เท่ากับ 38.4 เพิ่มจากเดือนพ.ค.ที่เท่ากับ 28.5 เป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 12 เดือน แต่อย่างไรก็ตามค่าดัชนีฯยังต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของประชาชนยังกลับมาไม่ถึงระดับปกติ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค 57 อยู่ที่ระดับ 85.1 และจะมีการแถลงตัวเลขประจำเดือน มิ.ย. ซึ่งคาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
3. 'บริคส์' เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโลก
- สนายเอสวาร์ ปราสาท ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการค้าแห่งมหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าประจำกองทุนไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าการที่กลุ่มบริคส์ตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะ เป็นการท้าทายบทบาทเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ ซึ่งในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา องค์กรทั้งสองทำหน้าที่เป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด โดยให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง และสนับสนุนโครงการต่างๆในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าบทบาทขององค์กรหลักทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสองแห่งนั้นก็มีความขาดๆเกินๆ ไปในหลายกรณี แต่ความเคลื่อนไหวของบริคส์ครั้งนี้ แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารการเงินมาอยู่ในกลุ่มของตนเอง
- สศค. วิเคราะห์ว่า กลุ่มประเทศบริคส์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้และจีน ถือเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโต โดยกลุ่มประเทศบริคส์มียอดรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2013 อยู่ที่กว่า 1 หมื่น 6 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีการพยากรณ์ว่ากลุ่มนี้อาจจะแซงหน้ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 ในปี 2027 นอกจากนี้อินเดียและจีนก็ถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย หากธนาคารเพื่อการพัฒนาเฉพาะดังกล่าวได้ตั้งขึ้น ก็อาจส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากธนาคารสามารถถ่วงดุลอำนาจการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก และแต่ละประเทศจะมีอิสระในการบริหารการเงินมากขึ้น รวมทั้งการอนุมัติการจัดตั้งกองทุนเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของประเทศสมาชิกจากสภาวะการเงินโลกที่ผันผวน อย่างไรก็ดี กลไกทางการเงินดังกล่าวจำเป็นต้องรอการอนุมัติจากสำนักงานนิติบัญญัติของทุกประเทศสมาชิกของบริคส์ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งควรจะต้องติดตามต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257