รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 5, 2014 11:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2557

Summary:

1. กสิกรไทยคาด กนง.ประชุม 6 ส.ค.นี้คงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.00

2. สนย.เผยเศรษฐกิจอินโดนีเซียถดถอย กระทบส่งออกไทย

3. อินโดนีเซียเผยดัชนี CPI เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงแตะร้อยละ 4.53

1. กสิกรไทยคาด กนง.ประชุม 6 ส.ค.นี้คงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.00
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมรอบที่ 5 ของปี ในวันที่ 6 ส.ค. 57 ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มปรากฏสัญญาณของ การฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองและการดำเนินมาตรการต่างๆของภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ น่าจะส่งผลให้ กนง. สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อประเมินทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อีกระยะหนึ่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จนถึงสิ้นปี 2557 นี้มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 57) ผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นปัจจัยกดดันต่อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน ก.ค. ขยายตัวร้อยละ 2.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการลดค่าครองชีพของ คสช. อาทิ นโยบายการตรึงราคา LPG การลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล กอปรกับ สศค.คาดว่า กนง. จะยังคงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อที่จะเอื้ออำนวยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอีกด้วย
2. สนย.เผยเศรษฐกิจอินโดนีเซียถดถอย กระทบส่งออกไทย
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์ดัชนีและพยากรณ์เศรษฐกิจการค้าได้ศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซียพบว่า ช่วงครึ่งหลังปี 57 ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว จากดัชนีชี้นำวัฏจักรเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยภาวะเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ยังคงไม่ฟื้นตัวจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอินโดนีเซียในช่วงครึ่งหลังปี 57
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/57 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 โดยเฉพาะอุปสงค์ภายนอกประเทศจากมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าล่าสุดเดือน พ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.1 และ -11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไปอินโดนีเซีย ทั้งนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอีกประเทศหนึ่งของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยในปี 56 และข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียลดลง โดยมูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปอินโดนีเซียในช่วง 6 เดือนแรกของปี 57 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -18.8 เมือเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน สำหรับสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำตาลทราย
3. อินโดนีเซียเผยดัชนี CPI เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงแตะร้อยละ 4.53
  • สำนักงานสถิติอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอินโดนีเซียในเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอลงจากอัตราร้อยละ 6.7 ในเดือน มิ.ย. 57 เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการให้เงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิง หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 ซึ่งสูงกว่าเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 เนื่องจากตรงกับช่วงเทศกาลอิดริล ฟิตรีของชาวมุสลิม (หลังถือศีลอด) สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (ซึ่งไม่นับรวมองค์ประกอบด้านราคาที่มีความผันผวน) อยู่ที่ร้อยละ 4.64 ในเดือน ก.ค. 57 ชะลอลงจากร้อยละ 4.81 ในเดือน มิ.ย. 57
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ปี 56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาเรื่อยๆจนถึงเดือน ก.ค. 57 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.53 ถือเป็นปัจจัยด้านบวกต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีการพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก พิจารณาจากสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 54.8 อย่างไรก็ดี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังคงขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.2 กอปรกับมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน พ.ค. 57 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.1 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -11.4 เช่นกันโดย สศค.เห็นว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีความเสี่ยงจากภาคการค้าของระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน และยังคงไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งควรติดตามสถานการณ์ต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ