Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2557
Summary:
1. หอการค้าไทยคาดมีเงินใช้จ่ายในช่วงวันสารทจีน-วันแม่ 2.3 หมื่นล้านบาท
2. คาดภายใน 2 ปี จีนจะใช้ไทยเป็นฮับลงทุนอาเซียน
3. เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี
1. หอการค้าไทยคาดมีเงินใช้จ่ายในช่วงวันสารทจีน-วันแม่ 2.3 หมื่นล้านบาท
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงสารทจีนและวันแม่ที่คาดว่าจะมีเงินใช้จ่ายสะพัด 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และไตรมาส 3 ปี 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3-0.4 ซึ่งสะท้อนถึงคนไทยกล้าใช้เงินมากขึ้นและทำให้บรรยากาศจับจ่าย-เที่ยวกลับมาคึกคัก แต่ก็ยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยจัดการปัญหาของแพง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 57 มีสัญญาณทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมพบว่ามีสัญญาณดีขึ้นตามลำดับ โดยในเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 68.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์การเมืองไทยที่มีเสถียรภาพและมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท และการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ (-0.2) - 0.8 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. คาดภายใน 2 ปี จีนจะใช้ไทยเป็นฮับลงทุนอาเซียน
- หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เผยนักธุรกิจชาวจีนเข้าลงทุนในไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น ในหลากหลายกิจการ เช่น ผลิตเหล็ก รถยนต์ อสังหาฯ และเกษตร โดยข้อมูลในปี 56 นักลงทุนจีนขอส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI 45 โครงการ มูลค่าลงทุน 42,530.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 300% ขณะที่ 5 เดือนแรกปี 57 ได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยเป็นอันดับ 5 จากมูลค่าลงทุน จำนวน 9 โครงการ มูลค่าลงทุน 9,434 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนโครงการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.8% แต่มีมูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 260% เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน ในกิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน และกิจการผลิตรถยนต์ คาดภายใน 2 ปี จีนจะใช้ไทยเป็นฮับลงทุนอาเซียน ใช้สิทธิประโยชน์ภาษี AEC ฐานผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ใน ปี 56 ปริมาณการลงทุนจากจีนที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งโครงการและ มูลค่าลงทุน โดยจีนอยู่อันดับ 7 ในแง่ของโครงการ แต่ในแง่มูลค่าลงทุน เพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น จากปี 55 ที่อยู่ในลำดับที่ 9 ขณะที่กลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียมีปริมาณการลงทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 55 โดยการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นของจีนส่วนหนึ่ง เพื่อ (1) หวังดักโอกาสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 58 ประกอบกับ (2) การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้จีนทำการค้ากับอาเซียนสูงกว่าภูมิภาคอื่น ขณะเดียวกัน อาเซียนยังเดินหน้าเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน+ 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย จะเป็นแรงกระตุ้นให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ (3) ภาวะที่ขีดความสามารถทางการแข่งขันในประเทศจีนลดลงจากต้นทุนค่าแรงและ พลังงานที่สูงขึ้น อีกทั้ง (4) ความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้จีนเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียน เพิ่มขึ้น
3. เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี
- กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์รายงานว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากที่ขยายตัวได้ร้อยละ 4.8 ต่อปี ในไตมาสที่ 1 ของปี 57 ทั้งนี้ หากปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตมาสก่อนหน้าเพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนที่ปรับตัวลงร้อยละ -1.8 ต่อปี และการส่งออกสินค้าและบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 2.5 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาครัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปรับตัวดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 57ที่ร้อยละ -9.9 ต่อปี มาเป็นขยายตัวที่ร้อยละ 15.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 นอกจากนี้ หากพิจารณา GDP ด้านการผลิตพบว่า ภาคการผลิตและภาคการค้าส่งและค้าปลีกขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 9.9 และ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 57 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 และ 1.7 ต่อปี ตามลำดับ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 57 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี (คาดการณ์ ณ กรกฎาคม 57)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257