Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2557
1. พาณิชย์บุกตลาดจีน สนองนโยบายคสช.
2. ส่งออก SME ในช่วงครึ่งแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 14.77
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
- นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้บุกตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลของการไปบุกตลาดจีน โดยจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนมณฑลไห่หนาน และมณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย เพื่อขยายการส่งออกสินค้าไทยและจับคู่ทางธุรกิจนั้นเป็นที่น่าพอใจ โดยได้นำสินค้าประเภทสปา สุขภาพและความงาม อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าฮาลาล และสินค้าพรีเมียมไปเสนอลูกค้า คาดว่าจะมียอดคำสั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 320 ล้านบาท (10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เฉพาะเมืองซานย่า มณฑลไหหลำ และเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง มีการจับคู่ธุรกิจและสั่งซื้อสินค้า 640,500 เหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าใน 1 ปี จะมีคำสั่งซื้อประมาณ 160 ล้านบาท ทั้งนี้กรมฯ มีแผนส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง หนึ่งในกลยุทธ์ที่ดำเนินการ คือ การนำนักแสดงไทยที่มีชื่อเสียง เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มวัยรุ่นจีน จากกระแสความนิยมภาพยนตร์และละครไทยที่เข้าไปเปิดตลาดในจีน เข้าไปเชิญชวนวัยรุ่นจีนให้มารับประทานอาหารไทยและซื้อสินค้าไทย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
- สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการบุกตลาดจีนจะเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากในปี 56 จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 ไทยมีการส่งออกไปยังจีน คิดเป็นมูลค่า 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญไปยังจีนที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก (ขยายตัวร้อยละ 15.6) และผลิตตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ขยายตัวร้อยละ 29.6) ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา (หดตัวร้อยละ 14.9) เคมีภัณฑ์ (หดตัวร้อยละ -20.2) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 31.8) ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่า การส่งออกไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57)
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภาพรวมการส่งออกสินค้า SME ไปต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 57 มีมูลค่า 980,419 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 14.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีการส่งออกไปประเทศจีนมากที่สุด รองลงมาญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.074 ล้านล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 13.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประเทศที่นำเข้ามากที่สุดคือจีน รองลงมาญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และมาเลเซีย
-สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้า sme ในช่วงครึ่งแรกของปี 57 ที่ขยายตัวในระดับสูง คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้การการส่งออกไทยให้หดตัวเพียงเล็กน้อย โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 57 มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมยังหดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังจะกลับมาปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกสินค้าในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 - 2.5 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57)
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 79.2 ปรับลดลงจากระดับ 81.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เนื่องมาจากความกังวลของครัวเรือนต่อค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากข้อมูลการสำรวจของธนาคารเครดิตสวิสส์ พบว่า ครัวเรือนชาวสหรัฐฯ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่คาดการณ์อัตราการเพิ่มของรายได้ของตนอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.4 เท่านั้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตัวเลขด้านค่าจ้างกลับมีการปรับขึ้นที่ช้าส่งผลให้แรงงานขาดความเชื่อมั่นต่ออำนาจซื้อของตน ซึ่งส่ง ผลกระทบโดยตรงไปยังการบริโภคภาคเอกชน โดยแม้ว่าการบริโภคสินค้าหลัก เช่น อาหารและเสื้อผ้าจะยังคงมีการขยายตัวได้ แต่สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์เริ่มมียอดขายที่หดตัว ทำให้การเติบโตของยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในภาพรวมในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ไม่ได้มีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าความไม่สมบูรณ์ของตลาดแรงงานอันส่งผลกระทบถึงภาคเศรษฐกิจจริงจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจนถึงปีหน้า
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257