Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2557
1. สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 2 โตร้อยละ 0.4 แต่ปรับคาดการณ์ทั้งปีโตแค่ร้อยละ 1.5-2.0
2. กนอ. คาดปี 58 ยอดขาย 4 พันไร่ ชี้เปิดเออีซี หนุนต่างชาติเข้ามาลงทุน
3. อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์จีนอ่อนตัวลง เหตุกระแสคาดการณ์จีนออกนโยบายใหม่แผ่ว
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มนิ่ง ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น และการส่งออกเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม สศช. ได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 57 เหลือเติบโตร้อยละ 1.5-2.0 จากเดิมร้อยละ 1.5-2.5 แม้ว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะติดลบเพียงร้อยละ 0.1 ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.5 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ หากพิจารณาจากแหล่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ด้าน Demand Side พบว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/57 มาจากการส่งออกร้อยละ 0.5 การบริโภคภาครัฐร้อยละ 0.2 และการบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 0.1 ในขณะที่ด้าน Supply Side มาจากสาขาการขนส่งสื่อสารร้อยละ 0.5 ตัวกลางทางการเงินร้อยละ 0.3 เกษตร ร้อยละ 0.2 ไฟฟ้าร้อยละ 0.1 และสาขาค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 0.05 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าในครึ่งแรก จากปัจจัยบวกด้านความชัดเจนในเรื่องของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐรวมทั้งการเร่งรัดการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐที่แต่เดิมมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด รวมถึงการเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 - 2.5 คาดการณ์ ณ ก.ค.57)
- นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่าจากยอดขายพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 - 3 ของปีงบประมาณ 57 มีจำนวน 2.7 พันไร่ และคาดว่าในปี 58 จะมียอดขายพื้นที่ในนิคมฯประมาณ 4 พันไร่ และมีเงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ตามการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน อีกทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 58 ทำให้ต่างชาติเร่งเข้ามาตั้งฐานการลงทุนในไทยมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากแรงกระตุ้นในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 58 ส่งผลให้ กนอ. มีแผนเร่งเปิดนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ การวางแผนตั้ง บริษัท กนอ. อินเตอร์ จำกัด ซึ่งจะต้องมีการเสนอโครงการเข้าที่ประชุม ครม. ชุดใหม่เพื่ออนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 8 เดือน ถึง 1 ปี อีกทั้งการส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบบริหารจัดการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้นรวมทั้งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการลงทุนในไทยในลำดับต่อไป โดยที่ผ่านมาบอร์ดบีโอไอได้มีการอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่คั่งค้างได้ร้อยละ 35 และอนุมัติอีก 15 โครงการขนาดใหญ่ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 51,526 ล้านบาท ทำให้ส่งผลดีต่อนักลงทุนโดยตรง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจเพิ่มการลงทุนและยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคที่จะมีรายได้หรือการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
- ดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 7 วัน หดตัวลงลงร้อยละ 0.19 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์จีนที่หดตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว จากราคาบ้านในเดือน ก.ค. 57 ที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่า ทางการจีนจะดึงต้นทุนในการระดมทุนหรืออัตราดอกเบี้ยลง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีนในเดือน มิ.ย. 57 ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ เดือน ก.ค. 57 โดย NBS อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน สอดคล้องกับดัชนีฯ โดย HSBC ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ สะท้อนถึงการผลิตภาคบริการยังคงขยายตัวอย่างเปราะบาง แม้ว่ารัฐบาลจีนได้เริ่มทยอยปฏิรูปภาคการเงินตั้งแต่ต้นปี 57 โดยการลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนลง และประกาศขยายช่วงความเคลื่อนไหวค่าเงินหยวนจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2 ซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจไม่ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี การที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง การลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257