Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2557
1. ธพว. ลงนามความร่วมมือกับหน่วยอีก 8 แห่งเพื่อส่งเสริมศักยภาพของ SMEs
2. GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.4
3. ยอดค้าปลีกฮ่องกง เดือน ก.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับอีก 8 หน่วยงาน คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในวันที่ 28 ส.ค. 57 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs ในด้านเงินทุน การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการบริหารจัดการ การตลาด การขนส่ง และด้านการจัดจำหน่าย
- สศค. วิเคราะห์ว่า SMEs มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวนบริษัททั้งสิ้นประมาณ 2.7-2.9 ล้านราย และยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ คิดเป็นจำนวนแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยแต่ละปีSMEs สร้างรายได้ได้กว่า 3.9 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของGDP แต่ SMEs ยังคงประสบปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งทุน การตลาด และเทคโนโลยี การร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงานนี้ถือเป็นการพัฒนา SMEs อย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นการส่งเสริม SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจร กล่าวคือ มีเงินทุนสำหรับรองรับการลงทุนและการใช้จ่าย มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและเทคโนโลยี และเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนจากหน่วยเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง และยังเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัวได้ตามไปด้วย อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 โดยขยายตัวร้อยละ 6.4จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.3 และ 3.6 เป็นสำคัญ
- สศค. วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาด้านอุปทาน การขยายตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์สะท้อนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้ว หลังจากได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในช่วงปลายปี 56 แต่เมื่อพิจารณาในด้านอุปสงค์จะพบว่า กลไกสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 คือ การส่งออกสุทธิและการบริโภคภาคเอกชน โดยคิดเป็นแหล่งที่มาการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.2 และ 3.6 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของแต่ละภาคส่วนจะพบว่า ทุกภาคส่วนขยายตัวชะลอลง เช่น ภาคการบริโภคภาคเอกชน (คิดเป็นร้อยละ 69.4 ของ GDP) ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 5.9 ประกอบกับภาคการลงทุนรวม และการนำเข้าซึ่งในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 1.4 ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 และ10.1 ตามลำดับ อันเป็นผลจากการเร่งนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายจากไต้ฝุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี จึงควรติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ณ เดือน ก.ค. 57 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 6.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 6.2-6.7)
- ยอดค้าปลีกฮ่องกง เดือน ก.ค. 57 หดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในเดือนก่อนหน้าหดตัวที่ร้อยละ -6.9 ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า มาจากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องประดับอัญมณีและสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกฮ่องกงที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้า ผนวกกับเศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยในไตรมาส 2 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการส่งออกที่ชะลอลง ตามเศรษฐกิจจีนซึ่งเป้นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนการส่งออกไปยังจีนกว่าร้อยละ 54.8 (สัดส่วนปี 56) ทั้งนี้ ฮ่องกงมีระดับการเปิดประเทศที่สูงถึงร้อยละ 466 ของ GDP ในปี 56 สะท้อนถึงบทบาทของภาคการค้าระหว่างประเทศต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57) ซึ่งจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงอาจส่งผลให้มีการพิจารณาปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวในการประมาณการครั้งถัดไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257