รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 - 5 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 8, 2014 11:40 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด เดือน ก.ค. 57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -71.0 พันล้านบาท
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 57 ขาดดุล 863.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 70.1
  • สินเชื่อเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบันการอยู่ที่ร้อยละ 4.5
  • GDP เกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 59.0 จุด
  • ดัชนีผุ้จัดการฝายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ส.ค. 57โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด

Indicator next week

Indicators             Forecast   Previous
Aug : API  (%yoy)        2.5        4.3
  • ตามการลดลงของข้าวนาปรัง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวโพดและยางพารา ผลผลิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะสุกร ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด
Economic Indicators: This Week
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ค. 57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -71.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -9.9 พันล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการถอนเงินฝากคลังของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยสุทธิจำนวน 7.6 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -80.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 งบประมาณขาดดุลจำนวน -416.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -66.0 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาล ขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -482.5 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ 346.7 พันล้านบาท
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากมาตรการดูแลค่าครองชีพ ประกอบกับสภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาพืชผักผลไม้ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.2 หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบ การผลิต ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จะเห็นได้จากดัชนีหมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.5 วัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 3.6 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 4.2 สำหรับหมวดวัสดุฉาบผิว ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ดัชนีราคาบางหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ -2.8 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ -0.4 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 57 ขาดดุล 863.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1,838.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงที่ระดับ 1,450.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการชะลอลงของการหดตัวของการนำเข้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่การส่งออกกลับมาหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผนวกกับข้อจำกัดด้านอุปทานด้านระดับเทคโนโลยีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล 2,313.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ ประกอบกับรายรับภาคท่องเที่ยวยังคงหดตัว ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 57 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 7,893.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการชะลอลงของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ภาคธุรกิจ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และการที่ธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังคงรักษามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดเพื่อรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนสินเชื่อของภาครัฐ ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 57 กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น แม้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ส่งผลให้คาดว่า สินเชื่อกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นได้ในระยะต่อไป
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอลง โดยเฉพาะ เงินฝากของภาคธุรกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่เงินฝากของภาคครัวเรือนทรงตัว ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินจะระดมทุนผ่านเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป ตามความต้องการสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ส.ค.57 มีจำนวน 153,737 คัน หรือหดตัวร้อยละ -11.4 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.3 โดยเป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นจากยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคและยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม. ที่หดตัวร้อยละ -9.7 และร้อยละ -17.1 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.0 และร้อยละ -5.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวลงเช่นกัน และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -17.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือนส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 70.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 68.5 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังปรับขึ้นไม่สูงนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกไทย
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ส.ค. 57 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ตามการลดลงของข้าวนาปรัง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวโพดและยางพารา ผลผลิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวด ปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะสุกร ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีสถานการณ์โรคระบาด

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 59.0 จุด เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากดัชนีกิจกรรมการผลิตที่อยู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 54 อีกทั้งดัชนีคำสั่งซื้ออยู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 47

China: mixed signal

ดัชนีผุ้จัดการฝายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.7 จุด ผลจากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย NBS ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.1 จุด ลดลงจากระดับ 51.7 จุด ในเดือนก่อน สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่สัญญาณการฟื้นตัวยังคงอ่อนแอและไม่ชัดเจน ด้านดัชนีฯ นอกภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 โดย NBS อยู่ที่ระดับ 54.4 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.2 จุด เป็นผลจากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.1 จุด สูงสุดในรอบ 17 เดือน

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.4 จุด จากระดับ 50.8 จุดในเดือนก่อน ผลจากยอดการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 52.5 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ อยู่ที่ระดับ50.7 และ 53.1 ตามลำดับ สะท้อนภาคการผลิตที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 ลดลงต่ำสุดในรอบ 58 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนความเสี่ยงที่ยูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 57 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวม สะท้อนภาคการจ้างงานที่ยังคงซบเซา

India: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อน (ขจัดฤดูทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนและขยายตัวในระดับสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส ผลจากการส่งออก การบริโภคภาครัฐ และการลงทุนเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ปรับลดลงมาที่ระดับ 52.4 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่ขยายตัวชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องกับดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ส.ค. 57 ปรับลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนมาที่ระดับ 50.6 จุด สะท้อนการขยายตัวในภาคบริการเข้าสู่ภาวะปกติ โดยดัชนีคำสั่งซื้อใหม่และภาคโทรคมนาคมยังคงอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวดี

Singapore: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.5 จุดจากดัชนีผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ลดลง

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 57 หดตัวร้อยละ -6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากการส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นที่ยังคงหดตัว ส่วนมูลค่านำเข้า เดือน ก.ค. 57 หดตัวร้อยละ -19.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และยางพาราที่หดตัว ดุลการค้า เดือน ก.ค. 57 เกินดุล 123.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการผลิตดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.5 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 52.7 จุด จากดัชนีผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.5 จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ขยายตัวชะลอลง

Hong Kong: worsening economic trend

ดัชนีผุ้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรม จากดัชนีผลผลิตและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจที่ปรับลดลง

South Korea: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการชะลอลงในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน มูลค่าส่งออก (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว มูลค่านำเข้า เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.1 ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุล 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ห่างจากอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายมากขึน จากราคาอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และคมนาคมที่หดตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 50.3 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

Australia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากอุปสงค์ภาคเอกชนและการส่งออกชะลอตัว ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในครัวเรือนที่หดตัวและเครื่องแต่งกายที่ชะลอลง มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นที่ดีขึ้น มูลค่านำเข้า เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดุลการค้า เดือน ก.ค. 57 ขาดดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

United Kingdom: improving economic trend

ราคาบ้าน เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวในระดับสูงต่อเนืองเป็นเดือนที่ 5 ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ที่ระดับ 52.5 จุด ลดลงจาก 54.8 จุด ในเดือนก่อน ในขณะที่ดัชนีฯ ภาคก่อสร้างและภาคบริการ เดือนเดียวกัน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 64.0 และ 60.5 จุด ตามลำดับ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน ณ วันที่ 3 ก.ย. 57 ที่ 1,568.60 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 45,929 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ บ่งชี้การขยายตัวทางอย่างแข็งแกร่ง และการเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้นักลงทุนมั่นใจและเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดทุนมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 - 3 ก.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 4,245.71 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ตามทิศทางของ US Treasury โดยนักลงทุนยังคงติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรปที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ย. 57 นี้ โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 - 3 ก.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 602.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 3 ก.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.37 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินทุกสกุล ยกเว้นเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 3 ก.ย. 57 ปิดที่ 1,287.94 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่าต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,292.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ