Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 กันยายน 2557
1. BOI เผยยอดขอรับส่งเสริมลงทุน 8 เดือนแรกปี 57 มีมูลค่าลงทุน 4.16 แสนล้านบาท
2. กรมส่งเสริมสหกรณ์บูรณาการทำงานร่วมกรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาสหกรณ์เข้มแข็ง
3. ผลวิจัยระบุ FED อาจขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด herek 69024
- เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือนของปี 57 (ม.ค. - ส.ค.57) ว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 886 โครงการ เงินลงทุนรวม 416,500 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับลดลงร้อยละ -27.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 1,225 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงร้อยละ -38.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 673,900 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมของยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวม ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในเดือน ส.ค. 57 มีมูลค่าเงินลงทุน 45,900 ล้านบาท สูงกว่าเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีการยื่นขอรับส่งเสริมของกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 (อีโคคาร์ 2) จำนวน 10 ราย สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign direct investment) ในช่วง 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค.57) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 550 โครงการ เงินลงทุนรวม 288,340 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมเป็นอันดับหนึ่งเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี พบว่าสถิติคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 เป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในไทยจำนวน 458 โครงการ หรือร้อยละ 52 ของจำนวนคำขอทั้งหมด สะท้อนถึงนักลงทุนรายใหม่เริ่มมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) ในปี 57 จะหดตัวที่ร้อยละ -3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ - 4.5 ถึง - 2.5)
- SET รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ "การบูรณาการทำงานร่วมกันระดับจังหวัดระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์" ว่า การประชุมร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันรวมถึงแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ทั้งสองหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลและต้องให้คำแนะนำเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,161 แห่ง โดยเป็นสหกรณ์การเกษตรจำนวน 4,439 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 54.4 ของจำนวนสหกรณ์ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 1,487 แห่ง และสหกรณ์บริการจำนวน 1,261 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 18.2 และ 15.5 ของจำนวนสหกรณ์ทั้งหมด ตามลำดับ และมีจำนวนสมาชิกสหกรณ์ทั้งสิ้น 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งกระจายในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ทั้งนี้ ในปี 56 สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกรรมต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.0 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.2 ของ GDP โดยมีธุรกรรมสำคัญๆ เช่น เงินให้กู้ยืมจำนวน 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของธุรกรรมรวมรองลงมา ได้แก่ รับฝากเงินจำนวน 0.6 ล้านล้านบาท และรวบรวมผลผลิต 0.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.8 และ 4.9 ของธุรกรรมรวม ตามลำดับ โดยในปี 56 มีสหกรณ์ที่ประสบปัญหาทุจริตและข้อบกพร่องจำนวน 714 แห่ง จำนวนเงิน 1.5 พันล้านบาท ดังนั้น การที่ทั้งสองหน่วยงานได้ประสานความร่วมมือกันจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสหกรณ์ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
- ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เปิดเผยรายงานวิจัยที่ระบุว่า ตลาดการเงินคาด FED จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานานกว่าที่ผู้กำหนดนโยบายของ FED คาดการณ์ไว้ รวมทั้ง FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ผู้กำหนดนโยบายของ FED คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ รายงานวิจัยได้ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทชั้นนำในย่านวอลล์สตรีทคาดว่า FED มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปี 58 และคาดว่าเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ FED จะอยู่ที่ระดับเพียงร้อยละ 0.75 ณ สิ้นปี 58 และร้อยละ 2.13 ณ สิ้นปี 59 ขณะที่เจ้าหน้าที่ FED คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ณ สิ้นปี 58 และร้อยละ 2.5 ณ สิ้นปี 59
- สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีนโยบายชัดเจนที่จะกำหนดนโยบายการเงินที่สอดคล้องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมติการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถเติบโตดีขึ้น โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพี่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 1.9 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (QoQ_SA) ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปของ FED ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่ง FED จะต้องพยายามดำเนินการอย่างราบรื่นเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่กลับเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257