รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 19, 2014 11:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กันยายน 2557

Summary:

1. หอการค้าไทยประเมิน เทศกาลกินเจปี 57 จะมีเงินสะพัดขยายตัวมากที่สุดในรอบ 7 ปี

2. CIMBT เพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 58 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.0

3. มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. หอการค้าไทยประเมิน เทศกาลกินเจปี 57 จะมีเงินสะพัดขยายตัวมากที่สุดในรอบ 7 ปี
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเทศกาลกินเจในปี 57 ซึ่งจะมีเทศกาลกินเจ 2 รอบ เนื่องจากตามปฏิทินทางจันทรคติจะมีเดือน 9 สองครั้ง ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 182 ปี โดยผลการสำรวจพบว่า เทศกาลกินเจในรอบแรก (24 ก.ย. - 2 ต.ค. 57) จะมีเงินสะพัดรวม 4.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่เทศกาลกินเจรอบที่ 2 (24 ต.ค. - 1 พ.ย. 57) จะมีเงินสะพัดรวม 1.0 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินสะพัดรวม 5.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 27.7 จากปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลการสำรวจที่ว่าเทศกาลกินเจจะมีเงินสะพัดสูงสุดในรอบ 7 ปีนั้น แม้ว่าจะเป็นผลจากการมีเทศกาลกินเจ 2 รอบ ที่ทำให้มีจำนวนวันในเทศกาลมากกว่าปีก่อน แต่ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 57 โดยเฉพาะในช่วงที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงเปราะบาง สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง เดือน ก.ค. 57 และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เดือน ส.ค. 57 หดตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ -37.5 และ -11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับเพิ่มขึ้นใน เดือน ส.ค. 57 มาที่ระดับ 70.1 จุด บ่งชี้ความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของประชาชน ภายหลังที่การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนต่อไป
2. CIMBT เพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 58 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.0
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หรือ ClMBT มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 จะฟื้นตัวได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเดินหน้าการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนต่อเนื่องด้วย ขณะที่ปี 57 มองว่าจีดีพีจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 จากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากการส่งออกยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งไทยไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้ ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคอาจฟื้นตัวได้ไม่แรงนัก เพราะในปีหน้าเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจเพิ่มภาระในการชำระหนี้ ดังนั้นจึงมองว่าในปีหน้าการบริโภคอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นภาคเอกชน ทั้งในส่วนของผู้บริโภคและธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นสะท้อนทิศทางการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป นอกจากนี้ แผนการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ สำหรับปีงบประมาณ 57 และ 58 นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดย สศค. คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5) และ สศค. จะประกาศประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 และปี 58 ในเดือน ต.ค. 57 ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ควรจับตามองในระยะต่อไป ได้แก่ การฟื้นตัวของคู่ค้าไทย ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายถือเป็นอีกความท้าทายสำคัญ เนื่องจากธนาคารกลางประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ มีการดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกัน(Unsysnchronized Monetary Policy) อาทิ การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น
3. มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานมูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ที่หดตัวร้อยละ -0.2 และ -4.4 ตามลำดับ เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.5 ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวชะลอลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าในช่วงปลายปี 56 แต่การส่งออกญี่ปุ่นขยายตัวชะลอลงตั้งแต่ต้นปี 57 และเริ่มหดตัวตั้งแต่เดือน พ.ค. 57 เป็นต้นมา (ยกเว้นเดือน ก.ค. 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ก่อนกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือน ส.ค. 57) แม้ว่าภาคการส่งออกจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 15.9 ของ GDP แต่ในสภาวะที่อุปสงค์ภายในประเทศหดตัวลง สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ที่หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.8 จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวร้อยละ -2.6 ตามการปรับขึ้นอัตรามูลค่าเพิ่มที่มีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 57 สะท้อนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะสั้นอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริโภคในประเทศ แต่คาดว่าในระยะกลางถึงยาวนั้นจะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมผ่านการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐจากเสถียรภาพทางด้านการคลังที่เริ่มแข็งแกร่งมากขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเวลาที่อุปสงค์ภายนอกชะลอตัวและมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 (ช่วงคาดการณ์ 1.0-1.5)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ