ทั้งนี้ นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากระดับความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนสิงหาคม 2557
และในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – สิงหาคม 2557)
ในเดือนสิงหาคม 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 203,171 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 36,007 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9) ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 รายได้รัฐบาลสุทธิเท่ากับ 1,881,624 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 168,352 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนสิงหาคม 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 203,171 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 36,007 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 40,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.1 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 16,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ที่ชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณการ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,266 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,739 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.0 เป็นผลจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้ และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,058 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.7 สาเหตุจากการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ดี ส่วนราชการอื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,428 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 เนื่องจากรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและค่าใบอนุญาตต่างด้าวจัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้เป็นสำคัญ
2. ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – สิงหาคม 2557)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,881,624 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 168,352 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังต่ำกว่าประมาณการ 223,902 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 ในขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 26,181 และ 17,586 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.7 และ 15.9 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,535,570 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 129,765 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.9) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 60,965 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.6) เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 59,536 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.1) ประกอบกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,429 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 6.5 ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคในประเทศที่ยังคงมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 55,572 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.9) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากกำไรสุทธิของผลประกอบการรอบปีบัญชี 2556 (ภ.ง.ด. 50) และจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,760 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3) เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ดี ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,708 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5) เป็นผลจากธุรกรรมภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวดี
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 352,367 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 72,315 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 39,888 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 40.2) สาเหตุมาจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการส่งมอบรถยนต์โครงการรถยนต์คันแรกเกือบครบทั้งโครงการแล้วในปีงบประมาณก่อนหน้า
- ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 26,917 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.7) เป็นผลจากการขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำและก๊าซ NGV ซึ่งไม่เสียภาษี ทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน
- ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,535 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคหันมาบริโภคบุหรี่ที่มีราคาถูกลง ประกอบกับปริมาณการบริโภคบุหรี่ที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี ภาษีเบียร์และภาษีสุราจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,917 และ 2,095 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4 และ 3.6 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.8 และ 19.8 ตามลำดับ) เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสุราเมื่อเดือนกันยายน 2556
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 98,578 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,822 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.5) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 22,253 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.8 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กรกฎาคม 2557) หดตัวร้อยละ 11.1 และร้อยละ 5.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 131,973 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,181 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.0) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และ บมจ. ท่าอากาศยานไทย
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 128,368 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,586 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.4) สาเหตุสำคัญมาจากรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 8,943 ล้านบาท และการส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 5,929 ล้านบาท เป็นสำคัญ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,254 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 694 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.6) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุที่สูงกว่าเป้าหมาย
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 272,297 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,993 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 210,078 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,062 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 62,219 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,069 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.3
2.7 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 13,996 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,240 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 14,152 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,687 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 8 งวด เป็นเงิน 64,787 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,863 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543, 3569
--กระทรวงการคลัง--