รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 22, 2014 13:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กันยายน 2557

Summary:

1. พาณิชย์ยอมรับ ราคาผักสดแพง สั่งคุมอาหารเจ

2. สศก. คาดภาวะเศรษฐกิจเกษตรปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1-3.1

3. G20 กังวลความเสี่ยงตลาดเงินโลก

1. พาณิชย์ยอมรับ ราคาผักสดแพง สั่งคุมอาหารเจ
  • รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงก่อนเข้าเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 24 ก.ย.- 2 ต.ค. 57 นี้ มักจะมีปัญหาการร้องเรียนว่าผักสดและเครื่องประกอบการ อาหารเจมีราคาเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก และจากการติดตามราคาสินค้าในตลาดสดช่วงนี้ยอมรับว่า ราคาผักสดมีการปรับตัวสูงขึ้นจริง แต่เป็นการปรับขึ้นตามฤดูกาล ดังนั้น กรมการค้าภายใน จึงมีการจัดเทศกาลกินเจตามตลาดสด แต่ในส่วนของส่วนประกอบอาหารเจ เช่น เต้าหู้ ขณะนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้กำหนดอาหารเจในปีนี้อยู่ที่ 30-35 บาทต่อจาน ขณะเดียวกันได้ให้พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดสดจะต้องติดป้ายแสดงราคา และรายการสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรู้ราคาสินค้าได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการควบคุมราคาอาหารผักสดและเครื่องประกอบอาหารในช่วงเทศกาลเจจะสามารถช่วยชะลอแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ ซี่งราคาสินค้าในหมวดผักสดและเครื่องประกอบอาหารนั้นมีสัดส่วนน้ำหนักถึงร้อยละ 5.8 ของตะกร้าเงินเฟ้อในปีฐาน 54 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพทางด้านราคาของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 1.9 -2.9 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57) อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ต.ค. 57 หลังจากรัฐบาลได้มีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน อาทิ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน การตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า FT) ตลอดจนการควบคุมราคาอาหารในช่วงเทศกาลเจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2. สศก. คาดภาวะเศรษฐกิจเกษตรปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1-3.1
  • นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดว่าการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.9 ส่งผลให้ปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยสาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ปศุสัตว์ บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ส่วนสาขาประมงยังคงหดตัว จากการระบาดของโรคตายด่วนที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำการผลิตไม่เต็มที่ จึงทำให้ผลผลิตกุ้งยังคงออกสู่ตลาดลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 57 เศรษฐกิจภาคการเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้การที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 57 จะขยายตัวในช่วง 2.1-3.1 นั้นจะเป็นปัจจัยในการสนับสนุนต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 57 เนื่องจากภาคเกษตรมีสัดส่วนต่อ GDP ประมาณร้อยละ 8.3 อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลผลิตสินค้าเกษตรในปี 57 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ระดับราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ฯลฯ ยังคงหดตัวตามอุปทานทั้งในประเทศและตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรกรในปี 57 ยังคงหดตัว และจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคในระยะต่อไป
3. G20 กังวลความเสี่ยงตลาดเงินโลก
  • ในการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ณ กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตัวแทนธนาคารกลางของกลุ่มประเทศดังกล่าวได้แสดงความกังวลต่อตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มการสะสมความเสี่ยงที่มากเกินไป เนื่องจากตลาดการเงินมีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการเงินทั้งในรูปแบบของการเข้าซื้อสินทรัพย์โดยรัฐบาลและการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงยังคงเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ โดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรมีการฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจฝั่งยุโรป รวมถึงเอเชีย นำโดยจีนและญี่ปุ่นยังเจออุปสรรคภายในของตนเอง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ทางสหรัฐฯ จะลดการสนับสนุนลงตามภาคเศรษฐกิจจริงที่ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ทางรัฐบาลจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รวมถึงธนาคารกลางยุโรปได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนถึงความพร้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตพ้นความซบเซาที่เผชิญอยู่ได้ นั่นทำให้ภาวะความเสี่ยงที่ทาง G20 แสดงความกังวลจะยังคงเป็นปรากฎการณ์ของเศรษฐกิจโลกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีก่อนที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นตัวกระตุ้นให้เงินทุนเคลื่อนย้ายวิ่งเข้าหาแหล่งลงทุนที่มีผลตอบแทนดี เป็นเหตุให้ระบบธนาคารเงา (Shadow banking) และฟองสบู่ในตลาดทุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว บั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินในระดับประเทศและภูมิภาค การกระตุ้นเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่จึงยังคงเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและความเสี่ยงที่ต้องจับตา และถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้ทำนโยบายทั่วโลก

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ