รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 3 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 6, 2014 11:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 57 หดตัวลงอีกครั้งที่ร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.2
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค. 57 หดตัว ในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.7
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ส.ค. 57 เกินดุล 239.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ ร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.2
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 69.2
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาส 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน โดย HSBC ญ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด

Indicator next week

Indicators                        Forecast   Previous
Sep : Motorcycle sales  (%yoy)      -5.0      -11.4
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี จากการที่ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวลงเช่นกัน และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง
Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน ส.ค. 57 มีมูลค่า 18,943.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.9 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 จากการหดตัวของสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -8.3 ตามการหดตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ที่ร้อยละ -2.6 และ -8.9 ตามลำดับ ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -4.1 ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรมขยายตัวดีที่ร้อยละ 8.0 รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวดีเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 7.4 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวคงที่จากเดือนก่อนที่ร้อยละ -0.2 และปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -7.2 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้าในเดือน ส.ค. 57 มีมูลค่า 17,797.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -2.9 จากการหดตัวของทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าทุนและยานยนต์ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -21.2 และ -24.2 ตามลำดับ นอกจากนี้สินค้าวัตถุดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -10.2 -7.1 และ -11.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -0.3 และปริมาณการนำเข้าหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -13.9 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 57 เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร และเครื่องประดับเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากภาวะอิ่มตัวของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับปัจจัยฐานสูง ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร หดตัวจากผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งและปลาทูน่า จากโรคระบาดในกุ้งที่มี การฟื้นตัวช้าและจากความผันผวนของราคาปลาทูน่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีเป็นระบบดิจิตอล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นที่ขยายตัวได้ คือ อิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ และไข่ไก่ลดลงจากความต้องการที่น้อยลงในช่วงเทศกาลเจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดซีเมนต์ที่หดตัวร้อยละ -3.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัว -2.8 สอดคล้องกับดัชนีในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ตามการชะลอตัวของการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ส.ค. 57 เกินดุล 239.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 856.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นที่ระดับ 2,198.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าที่หดตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังกลับมาฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในขณะที่การส่งออกหดตัวเร่งขึ้น เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างและอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล 1,959.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลที่น้อยกว่าเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น ตามค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ประกอบกับรายรับภาคท่องเที่ยวยังคงหดตัว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8,140.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการชะลอลงของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจที่สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และการที่ธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังคงรักษามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดเพื่อรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 57 ส่งผลให้คาดว่า สินเชื่อกลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ในระยะต่อไป
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอลง ทั้งจากเงินฝากของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินจะระดมทุนผ่านเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป ตามความต้องการสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือนก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 69.2 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 70.1 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว จากราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออกไทย
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ -6.8 สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวในปี 57 ตามการหดตัวของยอดขายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 64.4) ที่หดตัวร้อยละ -12.9 เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 11.2) ที่หดตัวร้อยละ -9.3 ในขณะที่เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 13.2 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ขยายตัวร้อยละ 10.2 ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 9 เดือนแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย.57 คาดว่าจะ หดตัวร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี จากการที่ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวลงเช่นกัน และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สูงกว่าตัวเลขที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ ผลจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 86.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและการคาดการณ์กิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ปรับลดลงที่ระดับ 56.6 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ สินค้าคงค้าง การจัดส่ง และการจ้างงานที่ปรับตัวลดลง

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC เดือน ก.ย. 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวในอัตราต่ำต่อเนื่องสอดคล้องกับดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม โดย NBS เดือน ก.ย.57 ที่คงที่ที่ระดับ 51.1 จุด ด้านดัชนีฯ นอกภาคอุตสาหกรรม โดย NBS เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 54.0 จุด ลดลงจากระดับ 54.4 จุด ในเดือนก่อน และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน

Japan: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าทุกหมวดที่ปรับเพิ่มขึ้น ยกเว้นหมวดเชื้อเพลิงและพลังงาน ส่วนอัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ลดลงอยู่ที่ระดับ 51.7 จุด ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 57 ลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ -11.4 สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 50.3 สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงต่ำสุดในรอบ 59 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารและพลังงานที่ลดลง สะท้อนความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวม บ่งชี้ภาคการจ้างงานที่ซบเซา

UK: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อน ราคาบ้าน เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือนที่ร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ ดัชนีฯ ภาคก่อสร้าง เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 64.2 จุด เพื่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 64.2 จุด ในเดือนก่อน และเป็นระดับสูงสุดใน 8 เดือน

Singapore: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Indonesia: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.7 จากการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เร่งขึ้น ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 ขาดดุล -3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านดัชนีผู้จัดการฝายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดัชนีผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.0 จากราคาอาหารและสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าส่งออก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวขะลอลงที่ร้อยละ 10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่าส่งออกยางพาราที่หดตัวตามราคายางพาราในตลาดโลกที่ตกต่ำ ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 15.3 จากการนำเข้าเครื่องจักรและส่วนประกอบ ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 57 ขาดดุล -600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Australia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอลง มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานสูง และการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่หดตัวต่อเนื่อง และมูลค่านำเข้าหดตัวเร่งขึ้นร้อยละ -6.8 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 241 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

South Korea: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.0 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 57 เกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวในเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

Hong Kong: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด แม้ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนในเดือนก่อน แต่ยังคงสะท้อนการขยายตัวระดับสูง

India: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ปรับลดลงมาที่ระดับ 51.0 จุด จากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอลง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ในวันที่ 2 ต.ค. 57 โดยปิดที่ 1,569.73 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 54,443 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด อีกทั้งนักลงทุนยังรอความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,142.8 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีขึ้นไป ปรับลดลง 4 - 13 bps เป็นไปในทิศทางเดียวกับ US Treasury โดยนักลงทุนยังจับตามองการทำมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,787.1 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 2 ต.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.43 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินยูโร วอน หยวน และดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.23 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำค่อนข้างคงที่ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 2 ต.ค. 57 ปิดที่ 1,213.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,215.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ