รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 7, 2014 11:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2557

Summary:

1.เวิลด์แบงค์คาด ศก.ไทยปีนี้โตร้อยละ 1.5 ส่วนปี 58 โตร้อยละ 3.5

2. อุตฯ ก่อสร้างฟื้นรับแผนกระตุ้น 3 แสนล้านบาท

3.บีโอเจเริ่มประชุมนโยบายแรก คาดเดินหน้าผ่อนคลายการเงินเพื่อหนุนเศรษฐกิจ

1. เวิลด์แบงค์คาด ศก.ไทยปีนี้โตร้อยละ 1.5 ส่วนปี 58 โตร้อยละ 3.5
  • วันนี้ (6 ต.ค. 57) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงค์) เปิดตัวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและประเทศไทยฉบับล่าสุด น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 โดยการส่งออกยัง หดตัวลงต่อเนื่องจากความอ่อนแอของภาคสินค้าและบริการ โดยคาดว่าการส่งออกปีนี้จะโตได้เพียงร้อยละ 0.7 สำหรับในปี 58 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าทั้งจากการบริโภค สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 69.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงชะลอตัวเช่นกัน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ในเดือน ส.ค. 57 ที่ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -41.2 และ -11.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะภาคการค้าต่างประเทศก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่หดตัวร้อยละ -7.4 และ -14.2 ตามลำดับ จากเศรษฐกิจโลกที่ไม่มี การฟื้นตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. อุตฯ ก่อสร้างฟื้นรับแผนกระตุ้น 3 แสนล้านบาท
  • นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลได้ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเน้นไปที่การซ่อมสร้างในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท จะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างโดยตรง ไม่อยู่ในภาวะติดลบหลังจากที่เผชิญกับความซบเซามาตั้งแต่ปลายปี 56 ต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปีนี้เนื่องจากปัญหาการเมือง และจะช่วยให้ภาคก่อสร้างทั้งปี 57 ทะลุ 9.7 แสนล้าน ขยายตัวร้อยละ 2 โดยมั่นใจปีหน้าแตะ 1 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ภาคการก่อสร้างของไทย หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 56 โดยครึ่งปีแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -7.6 เช่นเดียวกันกับการลงทุนในภาคการก่อสร้าง พบว่าหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 56 เช่นกัน โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้การลงทุนภาคการก่อสร้างหดตัวร้อยละ -6.9 คิดเป็นมูลค่า ณ ราคาตลาด 226,651 ล้านบาท ในขณะที่ปี 56 มูลค่าการลงทุน ภาคก่อสร้างรวมอยู่ที่ 952,197 ล้านบาท อย่างไรก็ดี พบว่าที่ผ่านมางบประมาณการลงทุนของภาครัฐยังคงอยู่ในระดับปกติ แต่ในช่วงครึ่งปีแรกโครงการต่างๆ ติดขัดปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ การที่รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นการลงทุน และเร่งการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 หรือไตรมาส 4 ของปีปฏิทิน 57 นี้ จะส่งผลให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน (Crowding-in effect) อีกด้วยซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนภาคการก่อสร้างขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น และจะส่งผลให้ GDP ภาค การก่อสร้างซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของ GDP กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้
3. บีโอเจเริ่มประชุมนโยบายแรก คาดเดินหน้าผ่อนคลายการเงินเพื่อหนุนเศรษฐกิจ
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะดำเนินการประชุมนโยบายเป็นเวลา 2 วัน โดยคาดการณ์ว่า บีโอเจจะยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังฟื้นตัวได้ช้าจากผลกระทบของการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเดือน เม.ย. 57 สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าบีโอเจอาจใช้ขั้นตอนเพิ่มเติมเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 2/57 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.1 หดตัวจากไตรมาส 1/57 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการลดลงของการบริโภคภาคเอกชนจากมาตรการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ หากพิจารณาดัชนีสะท้อนการขยายตัวในตรมาส 3/57 พบว่า การส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกำลังอ่อนแอ สะท้อนจากการส่งออกเดือน ส.ค. 57 ที่หดตัวร้อยละ -1.3 และการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -1.5 รวมทั้งผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 (ตัวลขเบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มาตรการ การผ่อนคลายการเงินจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นดีขึ้น แต่ในอนาคตญี่ปุ่นอาจต้องจัดทำมาตรการเพื่อการลดหนี้ รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ