รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 9, 2014 10:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2557

Summary:

1. ตลท. เปิดเผย CEO Survey มอง GDP ไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 1.5

2. พล.อ.ประวิตร คุยหารือทูตจีนและขอให้สนับสนุนซื้อสินค้าเกษตรไทย ข้าว-ยาง

3. ญี่ปุ่นเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 เดือนติดต่อกัน

1. ตลท. เปิดเผย CEO Survey มอง GDP ไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 1.5
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยผลวิจัย CEO Survey รายไตรมาสครั้งล่าสุด ซึ่งนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจผ่านความคิดเห็นและมุมมองของ CEO บริษัทจดทะเบียนไทยว่า CEO มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีหลังจากการเมืองมีเสถียรภาพ โดยร้อยละ 66 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 1.5 ในปีนี้ นอกจากนั้น ร้อยละ 88 คาดว่าจะลงทุนเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยวางแผนขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์หรือใช้กำไรสะสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ย.57 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 69.2 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทั้งจาก การลงทุนในหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ด้านอุปสงค์ต่างประเทศยังหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน (ต.ค.57 - ธ.ค.57) โดยเน้นมาตรการที่สร้างการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเน้นการสร้างงานและช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยวงเงินรวม 3.63 แสนล้านบาท คือ มาตรการการใช้งบประมาณเพื่อสร้างอาชีพ จ้างงาน ซ่อมแซมสาธารณูปโภค วงเงินรวม 3.24 แสนล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลจะเป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่าและทำให้มีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจและถึงมือประชาชนให้มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนซึ่งคาดว่า จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางเติบโตดีขึ้นได้ โดย สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. พล.อ.ประวิตร คุยหารือทูตจีนและขอให้สนับสนุนซื้อสินค้าเกษตรไทย ข้าว-ยาง
  • เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง รมต. และ รมต.กลาโหม และได้หารือกันถึงสถานการณ์ปัจจุบันและการพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง นอกจากนี้ ไทยยังมีข้อเสนอให้จีนรับซื้อสินค้าเกษตร ข้าวและยางพาราจากไทย ซึ่งทางเอกอัครราชทูตจีนได้รับข้อเสนอนี้เพื่อรายงานต่อทางการจีนต่อไป ขณะที่จีนยืนยันจะส่งเสริมให้บริษัทเอกชนในจีนเข้ามาพัฒนาอตุสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในไทยเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การร่วมหารือกันดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคการค้าของไทยโดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยในปี 57 มีแนวโน้มหดตัวลงจากปีก่อนจากความไม่แน่นอนและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.9 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (mom_SA) หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ สินค้าในหมวดยานพาหนะ และหมวดเกษตรโดยเฉพาะสินค้ายางพาราเป็นสำคัญ ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนอกจากนี้ การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับหนี่งของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 11.9 ของการส่งออกในปี 56 ยังมีทิศทางหดตัวลงจากปีก่อน โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.5-2.5 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
3. ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่ม
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น แถลงยอดได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ส.ค. 57 ว่า ขยายตัวถึง 82.7 ต่อปี ด้วยมูลค่า 287,100 ล้านเยน หรือราว 85,000 ล้านบาท เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือน ส.ค.57 อยู่ที่ระดับ 2.781 แสนล้านเยน นับเป็นการเกินดุลติดต่อกัน 2 เดือน จากเดือน ก.ค. 57 ที่เกินดุลอยู่ที่ เกินดุล ระดับ 4.167 แสนล้านเยน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ โดยเฉพาะรายได้จากต่างประเทศที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่ดุลการค้าในเดือน ส.ค.57 มีการขาดดุล อยู่ที่ระดับ -7.69 พันล้านดอลลาร์ จากยอดส่งออกในเดือน ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ต่อปี หรือ 5.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.3 ต่อปี หรือ 5.989 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ อาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นอาจจะขยายตัวต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ