Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2557
1. กบข. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.3
2. เกาหลีใต้ประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนอ่อนค่า
3. มูลค่าการส่งออกของเยอรมนี เดือน ส.ค. 57 หดตัวสูงที่สุดในรอบ 5 ปี 10 เดือน
- นายยิ่งยง นิลเสนา รองเลขาธิการ กลุ่มงานบริหารเงินกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรจับตามอง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากปัจจัยเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนส.ค. 57 ยังมีสัญญาณแผ่วลงทั้งจากการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ กอปรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยเอื้อให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางเศรษฐกิจโลก อาทิ การลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ การเพิ่มปริมาณเงิน Q2 ของญี่ปุ่น และมาตรการแก้ปัญหาเงินฝืดของ ECB ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อค่าเงินและต้นทุนทางการเงินได้ ทั้งนี้ สศค. จะประกาศตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 57 และ 58 ครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนที่จะถึงนี้
- รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินวอนตั้งแต่ปลายปี 55 ทั้งในแง่ของการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นและรายได้จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น โดยรัฐบาลเกาหลีจะอัดฉีดเงินเข้าระบบรวม 4.5 ล้านล้านวอน ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการส่งออกไปยังญี่ปุ่นโดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ส่งออกและการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักร และเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาถูกลงตามค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง เพื่อเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ผลิตเกาหลี
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จะส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลี โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงในเดือน ส.ค. 57 ที่ร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน มาตรการนี้จะเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับผู้ส่งออกรายย่อยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น ซึ่งในเดือน ส.ค. 57 มูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ -8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากเงินเยนอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเงินวอน โดยเงินเยนต่อวอนเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ 10.4 เยนต่อวอน อ่อนค่าลงร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 56 ที่อยู่ที่ 8.9 เยนต่อวอน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตเกาหลีใต้ที่จะสามารถนำเข้าสินค้าทุนจากญี่ปุ่นได้ในราคาที่ถูกลง อีกทั้งยังเป็นการสอดประสานการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลัง ที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในเดือน ส.ค. 57 (จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25) โดยต้องจับตามองผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. 57 ว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่
- มูลค่าส่งออกของเยอรมนี เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และถือเป็นการหดตัวสูงที่สุดในรอบ 5 ปี 10 เดือน เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปที่หดตัวถึงร้อยละ -4.7 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.4 ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่หดตัวน้อยกว่ามูลค่านำเข้าส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุล 14.1 ล้านยูโร
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของเยอรมนีที่หดตัว เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ที่หดตัวในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวมาก ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีในไตรมาสที่ 3 ปี 57 ชะลอตัวลง ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของยูโรโซน โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นร้อยละ 28.9 ของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 56 กอปรกับการส่งออกเป็นกลไกสำคัญของการขยายตัวเศรษฐกิจของยูโรโซน ด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46.4 ของ GDP ปี 56 ดังนั้น มูลค่าส่งออกที่หดตัวจึงอาจบ่งชี้แนวโน้มการส่งออกของยูโรโซนในเดือนเดียวกันที่มีทิศทางชะลอลงเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมชะลอตัวได้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257