Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2557
Summary:
1. ศูนย์กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5
2. พาณิชย์ชี้ ขึ้นแอลพีจี-เอ็นจีวี กระทบต่อเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.0025
3. มาเลเซียปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โตร้อยละ 6
1. ศูนย์กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5
- นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 58 จะเติบโตได้ที่ร้อยละ 3.5-4.5 หลังจากที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ล่าช้า โดยมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยสามารถจะกลับมาฟื้นตัวได้จากการลงทุนของภาครัฐ ประกอบกับภาคการส่งออกจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าปี 58 การส่งออกจะเติบโตได้ราวร้อยละ 3.5 รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ดีอีกครั้ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 จากการกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 57 โดยได้รับปัจจัยบวกของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ กอปรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยเอื้อให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยังส่งผลต่อเนื่องต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 อย่างไรก็ดี ด้านการส่งออกคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางเศรษฐกิจโลก อาทิ การลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ การเพิ่มปริมาณเงิน Q2 ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. จะปรับผลประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 57 และ ปี 58 ครั้งต่อไปในวันที่ 30 ต.ค. 57 นี้
2. พาณิชย์ชี้ ขึ้นแอลพีจี-เอ็นจีวี กระทบต่อเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.0025
- อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมการค้าภายในได้ประเมินผลศึกษาการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง จาก 21.38 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เป็นราคา 22 บาทต่อกก. และก๊าซเอ็นจีวี จาก 10.50 บาทต่อกก. เป็นราคา 11.50 บาทต่อกก. ซึ่งได้รวมผลกระทบจากกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ทั้งรถแท็กซี่และรถสาธารณะแล้วโดยพบว่าการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ที่ระดับร้อยละ 0.0025 นอกจากนี้จากการประเมินสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และจากที่กรมการค้าภายใน ได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ มีข้อสรุปตรงกันว่า จะไม่มีการปรับราคาสินค้าภายในปี 57 นี้อย่างแน่นอน แม้มาตรการในการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าจะสิ้นสุดลงในเดือน พ.ย. 57 นี้ก็ตาม และหากมีการปรับขึ้น ก็จะถือว่าเป็นการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่าประเด็นการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะและค่าแท๊กซี่รวมถึงการปรับขึ้นราคา LPG ภาคขนส่งและ NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล จะส่งผลกระทบไม่มากนักต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงผ่านหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และผลกระทบทางอ้อมผ่านทางหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 25.54 และ 33.48 ของตะกร้าเงินเฟ้อปีฐาน 54 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.008 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57 (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 1.7-2.9)) โดยจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ต.ค. 57 นี้
3. มาเลเซียปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โตร้อยละ 6
- นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคาด GDP ของมาเลเซียปีนี้จะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 6.0 ปรับขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5 ขณะที่ในปีหน้า นายราจิบกล่าวว่ามาเลเซียจะสามารถเติบโตได้ที่ ร้อยละ 5.0-6.0 ทั้งนี้นายราจิบกล่าวเสริมว่าในปีหน้ามาเลเซียจะมีนโยบายเพื่อลดการขาดดุลการคลังโดยการลดการอุดหนุนด้านราคา ซึ่งอาจมีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าในปี 58 มาเลเซียจะมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0 ซึ่งถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 51 ทางการมาเลเซียจึงได้เตรียมออกนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยลดภาระด้านค่าครองชีพเช่นกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของมาเลเซียปีนี้จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.6 และจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 ในปีหน้า (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57) โดยมาเลเซียถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 5.47 แสนล้านบาทใน 8 เดือนแรกของปี 57 (แบ่งเป็นการส่งออกและนำเข้าอย่างละเท่าๆกันที่ 2.73 แสนล้านบาท โดยไทยขาดดุลเล็กน้อยที่ 12 ล้านบาท) การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียจึงส่งผลดีต่อไทยในด้านการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ปีหน้าจะเป็นปีที่เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีผลทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง มาเลเซียก็เป็นคู่แข่งกับไทยทั้งในด้านสินค้าส่งออก โดยเฉพาะยางพาราและในด้านการเป็นฐานการผลิต ดังนั้น การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย การดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร และการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ จะยิ่งมีความสำคัญในบริบทที่เศรษฐกิจไทยเติบโต ได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257