Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2557
1. KBANK คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยปี 57 จะเติบโตประมาณร้อยละ 1.6
2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ย้ำต้องเร่งพัฒนาข้าวไทยให้มีคุณภาพมากกว่าเน้นด้านปริมาณ
3. ผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ส.ค. 57 ลดลง
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะโตประมาณร้อยละ 1.6 ต่อปี ขณะที่ในปี 58 คาดว่า จะโตประมาณร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวได้ช้ากว่าประมาณการ และเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุด ยังคงส่งสัญญาณแผ่วลงทั้งจากภาคการบริโภคการลงทุน ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก สะท้อนข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.ย. 57 อาทิเช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 69.2 จากเดือน ส.ค. 57 ที่อยู่ที่ระดับ 70.1 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวร้อยละ -4.4 จากเดือน ส.ค. 57 ที่หดตัว -11.4 ต่อปี ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปรับตัวลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ร้อยละ1.3 นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.9 ต่อปี สำหรับด้านอุปสงค์ต่างประเทศ โดยรวมยังอ่อนแอเกือบทุกตลาด โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 การส่งออกหัดตัวร้อยละ - 6.6 ต่อปี โดยเป็นการชะลอในเกือบทุกตลาดยกเว้นกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ที่ยังเติบโต นอกจากนี้ IMF ยังได้ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 57 เหลือ 3.3 ต่อปี และปี 58 เหลือ 3.8 ต่อปี ซึ่งลดลง 0.1 ต่อปี และ 0.2 ต่อปีจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ก.ค. 57 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อและอัตรา การว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57 ว่าเศรษฐกิจไทยใน ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 แต่จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งใน วันที่ 30 ต.ค. 57
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าข้าวที่ขายไม่ได้ราคาคือข้าวที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวให้เกิดความยั่งยืนนั้นประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในการผลิตข้าวให้มีคุณภาพมากกว่าการเน้นปริมาณการผลิต ซึ่งแนวทางการดำเนินการในเรื่องพัฒนาคุณภาพการผลิต มี 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงการผลิตข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิต การส่งเสริมการผลิตข้าวที่มีความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ และการพัฒนาสินค้าข้าวที่เป็นกลุ่มนิชมาร์เก็ตมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย สะท้อนได้จากมีเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็จจำนวนประชากรประมาณ 12.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.4 ของจำนวนประชากร และมีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 70 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของเนื้อที่ทั้งหมดของทั้งประเทศ ในปีการผลิต 2556/57 ไทยมีผลผลิตข้าวประมาณ 38.3 ล้านตัน โดยส่งออกข้าวจำนวน 6.6 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.3 ของการค้าข้าวโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 133,840 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากมาพิจารณาถึงประสิทธิภาพการผลิตข้าวของไทยกับประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม และอินเดีย พบว่าประสิทธิภาพการผลิตของไทยยังต่ำกว่าคู่แข่ง สะท้อนได้จากผลผลิตของไทยเท่ากับ 509 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ของเวียดนามและอินเดียเท่ากับ 902 และ 520 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น มาตรการดังกล่าวข้างต้นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านคุณภาพการผลิตข้าวไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปหรือยูโรสแตท รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 ในเดือน ส.ค. 57 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าทุนที่ลดลงร้อยละ 4.8 สินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 0.7 และสินค้าอุปโภคบริโภคไม่คงทนลดลงร้อยละ 0.2 ขณะที่สินค้าคงทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุด เศรษฐกิจยูโรโซนมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเปราะบาง สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุด อัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. 57 ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวม และอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. 57 ที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในได้ นอกจากนี้ หากพิจารณาการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 52.0 จุด โดยปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ต่อเนื่อง สะท้อนภาคการผลิตที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.4 จุด จากระดับ 53.1 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกล่าสุดเดือน ส.ค. 57 ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากร้อยละ 0.6 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257