Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2557
1. ธปท.ห่วงส่งออกระยะยาว จี้แก้ปัญหา-เพิ่มศักยภาพ
2. พณ. เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เดือน ก.ย.สูงสุดในรอบปี 57
3. แบงก์ชาติญี่ปุ่นคงระดับการประเมินศก.ระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ แม้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี
- นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหา การส่งออกที่ชะลอตัวช่วงที่ผ่านมา ต้องแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น และ ระยะยาว โดยระยะสั้นจากนี้ไป เชื่อว่าการฟื้นตัวคงเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดย ธปท. ประเมินการเติบโตการส่งออกไทยปีหน้าไว้ที่ ร้อยละ 4
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกตั้งแต่ต้นปี 57 ที่ผ่านมา ถือว่าชะลอตัวลง โดยที่ 8 เดือนแรก ของปี 57 มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในมีสาเหตุมาจากปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้น ปัญหาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อการผลิตเพื่อส่งออกที่น้อยลง ในส่วนของปัจจัยภายนอก การฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยซึ่งพึ่งพิงเศรษฐกิจโลก โดยภาคการส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 74.0 ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยในระยะยาว ควรพิจารณาถึงการโยกย้ายฐานผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ ก.ค. 57 ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 57 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อมูล 8 เดือนล่าสุดดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะต้องปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าลง โดยจะมี การประมาณการอีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค. นี้ ซึ่งจะมีการประมาณการเศรษฐกิจของปี 58 ด้วย
- อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน ก.ย.57 มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ สูงสุดในรอบปี 57 ทั้งจำนวนรายและจำนวนทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,079 ราย เพิ่มขึ้น 457 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 56 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวนทั้งสิ้น 30,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 11,781 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.0 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 56 สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกกิจการทั่วประเทศมีจำนวน 1,643 ราย เพิ่มขึ้น 193 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 56
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากยอดจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ในเดือน ก.ย. 57 ขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่ม ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือน ส.ค.57 อยู่ที่ระดับ 49.1 แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ก็เป็นค่าดัชนีที่สูงกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศค่อยๆ ส่งสัญญาณฟื้นตัว (สะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่และภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย.57 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 4.1 และร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 712 ราย อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 331 ราย ภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 154 ราย ขายส่งเครื่องจักรจำนวน 141 ราย และจัดนำเที่ยว 115 ราย ตามลำดับ
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงการประเมินเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในระดับภูมิภาคของประเทศ โดยได้ปรับลดการประเมินเพียง 1 ใน 9 ภูมิภาค พร้อมเสริมว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นมีการฟื้นตัวปานกลาง แม้ว่าจะมีปัจจัยอ่อนแรงอยู่บ้างจากการปรับขึ้นภาษีบริโภคเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเพียงภูมิภาคโทโฮะกุที่ปรับลด การประเมิน เนื่องจากการชะลอตัวด้านการลงทุนภาครัฐและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับอุปสงค์ ที่อ่อนแรงลง ภายหลังการปรับขึ้นภาษีเป็นร้อยละ 8 จากร้อยละ 5 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 2/57 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 ซึ่งหดตัวจากไตรมาส 1/57 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยส่วนหนึ่งเป็นการลดลงของการบริโภคภาคเอกชนและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจากมาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของญี่ปุ่นก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการคงระดับ การประเมินเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ตัวเลขคำสั่งซื้อเครื่องจักร (ไม่รวมภาคอุตสาหกรรมเรือ และพลังงาน) เดือน ส.ค. 57 มีมูลค่าอยู่ที่ 807.8 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 4.8 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนถึงภาคการผลิตเริ่มมีการฟื้นตัว โดย สศค. คาดว่า ในปี 57 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57) ซึ่งคงที่จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และบทบาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257