รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 24, 2014 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2557

Summary:

1. ส.อ.ท. ลดเป้าการผลิตรถยนต์ปี 57 เหลือ 2.1 ล้านคัน

2. รายงานการประชุม กนง. ของอังกฤษเผย มติ 7 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยและเข้าซื้อสินทรัพย์

3. มูลค่าส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. ส.อ.ท. ลดเป้าการผลิตรถยนต์ปี 57 เหลือ 2.1 ล้านคัน
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ปรับลดคาดการณ์การผลิตรถยนต์ในปี 57 เหลือเป็น 2.1 ล้านคัน จากเป้าหมายเดิมที่ 2.2 ล้านคัน ลดลงจากปี 56 ร้อยละ -14.5 ผลจากการปรับลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 0.9 ล้านคัน จากเดิม 1.0 ล้านคัน หรือลดลงร้อยละ -32.6 จากปีก่อน ขณะที่ยังคงเป้าการผลิตเพื่อส่งออกไว้ที่ 1.2 ล้านคันเช่นเดิม หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.1 จากปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ ส.อ.ท. ลดเป้าการผลิตรถยนต์ลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 ส่งสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากล่าสุดปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เดือน ส.ค. 57 ที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -41.2 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -37.5 นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ก็หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -21.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -21.5 อย่างไรก็ดี หลังจากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 57 ได้กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งสัญญาณว่าการจำหน่ายรถยนต์นั่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว อีกทั้งเป้าการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังคงขยายตัวจากปีก่อนสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 57 ที่คาดว่าจะดีขึ้นจากปีก่อน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ สศค.
2. รายงานการประชุม กนง. ของอังกฤษเผย มติ 7 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยและเข้าซื้อสินทรัพย์
  • ธนาคารกลางอังกฤษเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 7 - 8 ต.ค. 57 ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 7 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี อีกทั้งคงขนาดของการเข้าซื้อสินทรัพย์ สะท้อนถึงความกังวลของคณะกรรมการฯ ต่อความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของอังกฤษ ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำและการคงขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 22 ต.ค. 57 เงินปอนด์สเตอร์ลิงปิดที่ 1.605 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์สเตอร์ลิง อ่อนค่าลงร้อยละ -0.37 จากวันก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษในระดับต่ำต่อเนื่องถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับผลของการการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสหราชอาณาจักร (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 37.6 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 56) อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะที่สะท้อนการใช้จ่ายภายในประเทศบ่งชี้ถึงทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง อาทิ อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อีกทั้งเครื่องชี้ด้านอุปทานยังคงบ่งชี้การขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 58.7 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังคงถือว่าอยู่ในระดับสูง อีกทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกของสหราชอาณาจักร ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวถึงร้อยละ -20.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปยังยูโรโซนหดตัวถึงร้อยละ -10.6 จึงต้องติดตามผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจยูโรโซนต่อเศรษฐกิจอังกฤษในระยะต่อไป
3. มูลค่าส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยมูลค่าส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน และฮ่องกง ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.4 8.8 และ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ ตามลำดับ ส่วนมูลค่านำเข้า เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่านำเข้าที่ยังคงมากกว่ามูลค่านำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ -9.6 แสนล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าส่งออกญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยในด้านราคา ราคาสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นในมุมมองของชาวต่างชาติถูกลง จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า โดยในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 109.42 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปี 9 เดือน หรือคิดเป็นอัตราการอ่อนค่าร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ภายหลังจากที่มีข่าวว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นด้วยอัตราผลตอบแทนติลบ ทั้งนี้ ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ในด้านปัจจัยปริมาณ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 18.5 ของมูลค่าส่งออกรวมปี 56) ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้มีอุปสงค์จากสหรัฐฯ ต่อสินค้าส่งออกญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ