Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2557
1. การส่งออก เดือน ก.ย. 57 พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ +3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
2. โตโยต้า เผยยอดขายรถยนต์เดือน ก.ย. 57 หดตัวขยายตัวร้อยละ -27.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ + 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนก.ย.57 มีมูลค่า 19,912.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ +3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,711.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ +14.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ไทยขาดดุการค้า 1,798.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 57 มีมูลค่า 170,456.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 171,974.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,517.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การส่งออกของไทยเดือน ก.ย.57 ถือได้ว่าเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 2 เดือน โดยคิดเป็นรูปของปริมาณการส่งออกสินค้าแล้วจะขยายตัวร้อยละ +3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ อาทิ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ +11.7 และร้อยละ +7.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวเป็นบวกเช่นกันที่ร้อยละ +3.9 และร้อยละ +1.0 ตามลำดับ 2) นอกจากนี้ในแง่ของมิติด้านตลาดส่งออกหลัก พบว่า ตลาดที่ขยายตัวได้ดีในเดือน ก.ย. ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน ขณะที่ตลาดจีน ฮ่องกง และตะวันออกกลางยังคงหดตัว 3) เมื่อพิจารณาเป็นรายไตรมาสแล้ว พบว่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 3 ปี 57 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 0.3 และ 4) สศค. คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 57 จะอยู่ในช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.5 - 2.5 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57 และจะปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค.57 นี้)
- นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในเดือนก.ย.57 ว่ามีปริมาณการขาย 69,137 คัน หรือหดตัวร้อยละ -27.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่งที่หดตัวร้อยละ -35.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -18.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลง และความเข้มงวดของสถาบันทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายไปในช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยบวกของนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนภาคการเกษตร ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ประชาชนและนักธุรกิจชะลอการบริโภคสินค้าและการลงทุนออกไปก่อน และ 2) จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ยอดขายรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกปี 57 หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -37.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่งที่หดตัวร้อยละ -45.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -30.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นรายงาน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ +2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ +1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ เป็นผลจากยอดขายสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และเสื้อผ้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ +3.4 และ +9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ
- สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การที่ยอดค้าปลีกในเดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องนั้น เป็นการส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน หลังจากมีการปรับขึ้น VAT จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือน เม.ย. 57 2) เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาส 3 จะพบว่า หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวในไตรมาส 2 ที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ 3) หากสัญญาณการฟื้นตัวดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องดีต่อการบริโภคภาคเอกชน เพราะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 59.6 ของ GDP และจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ GDP ของญี่ปุ่นในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257