รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 - 24 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2014 11:35 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 86.1
  • GDP จีน ไตรมาสที่ 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
  • ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัว ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ต.ค.57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.8 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมสหภาพยุโรป เดือน ต.ค. 57 (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 52.2 จุด
  • ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อมาเลเซีย เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อฮ่องกง เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานไต้หวัน ในเดือน ก.ย. 57 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราการว่างงานมาเลเซีย ในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators                           Forecast     Previous
Sep : MPI (%yoy)                       -1.2         -2.7
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ การผลิตในบางอุตสาหกรรม ยังเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นรายอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 57 พบว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก
Sep : Domestic steel  sales (%yoy)     -7.0        -11.4
  • เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นใช่วงครึ่งหลังของปี 57 ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 86.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.7 เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการขาดแรงกระตุ้นในการขยายการลงทุน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความซบเซาของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงปัญหาสภาพคล่องและความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมองว่าการค้าชายแดนจะช่วยเพิ่มมูลค่าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นได้ หากมีการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าให้มีความสะดวกมากขึ้น
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ การผลิตในบางอุตสาหกรรม ยังเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นรายอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 57 พบว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในเดือน ก.ย. 57 คาดว่าหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ -11.4 เนื่องจากคาดว่า อุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นใช่วงครึ่งหลังของปี 57 ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวติดต่อกัน 2 เดือน และขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ต้นปี ผลจากราคาบ้านที่ปรับตัวลดลง โดยราคากลางของบ้านมือสอง เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ 209,700 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่ลดลง สอดคล้องกับยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หลังจากหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 และ 18.5 ตามลำดับ ขณะที่ ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)จากใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมีเนียมที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.0 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ

China: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 57 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.4 ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ดัชนีผู้จัดการฝายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด เพิ่มขึ้นจาก 50.2 จุด ในเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 3 เดือน ราคาบ้าน เดือน ก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 22 เดือน และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ -1.0 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์จีนที่รัดกุมขึ้น และยอดขายที่ลดลง ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ย. 57 ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัย โดยปรับลดเกณฑ์สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ลง

Japan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากยอดส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้น และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สนับสนุนการส่งออกในด้านราคา ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวขาดดุล -9.6 แสนล้านเยน ด้านภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.8 จุด จากระดับ 51.7 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 57 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -11.1 จุด เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ต.ค. 57 (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 52.2 จุด ตามการฟื้นตัวของการผลิตในเยอรมนี แต่ดัชนีฯ รวม ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของไตรมาสที่ 3 ปี 57 ที่อยู่ที่ระดับ 52.8 โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.7 และดัชนีฯ ภาคบริการทรงตัวอยู่ที่ระดับ 52.4

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.3 จากค่าใช้จ่ายหมวดขนส่งที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.5

Philippines: mixed signal

มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ผลจากการนำเข้าน้ำมันและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -2.6 และ -15.4 ตามลำดับ โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 ขาดดุล -16.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 14 เดือน จากราคาสินค้าหมวดที่พักอาศัยซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากนโยบายจ่ายเงินอุดหนุนค่าที่พักอาศัยของทางการฮ่องกงในเดือน ก.ย. 56 ซึ่งทำให้เกิดปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยการจ้างงานรวมลดลง 4,300 ตำแหน่ง ทำให้มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 3,785,700 คน

Australia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนโดยเฉพาะค่าคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อน

UK: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องกัน 18 เดือน อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 57 ยอดค้าปลีกหดตัวร้อยละ -0.3 สะท้อนถึงการชะลอลงของการบริโภคในเดือนทีผ่านมา

Taiwan: improving economic trend

อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 57 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 76 เดือน โดยในเดือนนี้มีจำนวนผู้ว่างงาน 458,000 คน ลดลง 15,000 คน จากเดือนก่อนหน้า หรือลดลงกว่า 28,000 คนจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 11.1 ล้านคน สะท้อนการจ้างงานของไต้หวันที่มีแนวโน้มฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 50 โดยทางการไต้หวันคาดการณ์ว่า หากไม่มีปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดหมายเพิ่มเติม อัตราการว่างงานเฉลี่ยของไต้หวันทั้งปี 57 น่าจะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 20 เดือน ประกอบกับส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำโดยการผลิตภาคเหมืองแร่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบ และปิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 22 ต.ค. 57 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,532.72 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียง 36,647.08 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนรายย่อยในประเทศ จากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 ปี 57 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ ตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เครื่องชี้เศรษฐกิจยุโรปออกมาไม่ดีนัก และความกังวลต่อความไม่สงบทางการเมืองของฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 22 ต.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 276.19 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 6 เดือนขึ้นไปปรับลดลง 0 - 11 bps เป็นไปในทิศทางเดียวกับ US Treasury จากความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังกล่าว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 22 ต.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,799.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 22 ต.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.61 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และหยวนจีน ในขณะที่เงินเยนและยูโรยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.19 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 22 ต.ค. 57 ปิดที่ 1,245.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,242.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ