Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2557
Summary:
1. สศค. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวที่ช่วงร้อยละ 1.2 - 1.7
2. พาณิชย์ยืนยันราคาสินค้าทรงตัวถึงสิ้นปี
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.9
1. สศค. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวที่ช่วงร้อยละ 1.2 - 1.7
- เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 57 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 จากร้อยละ 2.0 ในครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.2 - 1.7 จากอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งหลังของปี 57 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.9 จากสถานการณ์ทางเมืองที่มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.1 หรือช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6
- สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 ยังคงต้องเผชิญข้อจำกัดด้านอุปสงค์นอกประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากไทยจัดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด มีระดับการเปิดประเทศสูงถึงร้อยละ 133.3 ของ GDP โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการถึงร้อยละ 74.0 ของ GDP (สัดส่วนปี 56) สะท้อนให้เห็นว่าภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางในปี 57 นี้ มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นได้อีก จากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จากทั้งความเชื่อมั่นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ กอปรกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เสถียรภาพภายในและนอกประเทศซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะต่อไปยิ่งขึ้น
2. พาณิชย์ยืนยันราคาสินค้าทรงตัวถึงสิ้นปี
- อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยว่า แนวโน้มราคาสินค้ายังคงทรงตัว โดยไม่มีสินค้ารายการใดขอปรับราคา และคาดว่าราคาสินค้าน่าจะทรงตัวถึงสิ้นปี ถึงแม้ว่ามาตรการขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้าจะหมดลงในเดือน พ.ย. 57 ก็ตาม
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาสินค้าที่ยังทรงตัว จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำต่อไป สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ สศค. ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 โดยมีปัจจัยจากนโยบายตรึงราคาสินค้าของภาครัฐที่จะยังคงตรึงราคาต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 57 โดยเฉพาะในหมวดน้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า (FT) และราคาอาหาร ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าขั้นต้นของการผลิตในหลายหมวด ยังคงมีแนวโน้มปรับลดลง ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่ราคาน้ำมันดิบที่มีทิศทางปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 57 ต่อเนื่องถึงปี 58 ซึ่งเสถียรภาพทางด้านราคาจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคและการลงทุนของเอกชนในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57)
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.9
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เปิดเผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 102.6 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า โดยคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวร้อยละ -2.8 ในเดือนก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ที่กลับมาขยายตัวในเดือน ก.ย. 57 เป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -5.7 ในเดือนก่อนหน้า และผลผลิตสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -2.5 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้จะหดตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ -2.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ -0.2 ในเดือนนี้ สะท้อนภาคอุปทานของเกาหลีใต้ที่ยังเปราะบางและการฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจของ สศค. ซึ่งคาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 57 ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 57 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 ในครั้งก่อน ณ เดือน ก.ค. 57
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257