รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 4, 2014 11:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48, 10 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.08

2. สอท.มองปีหน้าส่งออกโตร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าเป้าหมาย

3. อินโดนีเซียเผยดัชนี CPI เดือน ต.ค. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.83 สูงกว่าคาดการณ์

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48, 10 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.08
  • นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน ต.ค.57 อยู่ที่ 107.32 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48 จากเดือน ก.ย.56 แต่ลดลงร้อยละ 0.1 จาก ก.ย.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 10 เดือน(ม.ค.-ต.ค.57) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.08 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค.57 อยู่ที่ 105.08 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 จากเดือน ก.ย.56 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 จาก ก.ย.57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.57) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. อยู่ที่ร้อยละ 1.48 ต่ำกว่าเดือนก่อนที่อยู่ที่ ร้อยละ 1.75 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาพลังงานที่สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อีกทั้งราคาอาหารสดยังไม่เป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเช่นกัน กอปรกับมาตรการทางภาครัฐในการช่วยบรรเทาค่าครองชีพ อาทิ การขยายเวลามาตรการรถเมล์ รถไฟฟรีถึงสิ้นปี 58 การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และราคา LPG ทำให้ในภาพรวม เสถียรภาพทางด้านราคายังคงอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ โดยทั้งนี้ สศค. ได้คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 57 และ 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ 2.2 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ 1.6 ทั้งในปี 57 และปี 58
2. สอท.มองปีหน้าส่งออกโตร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าเป้าหมาย
  • นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 58 ภาคเอกชน ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคส่งออก ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนซึ่งรัฐควรพิจารณาประเด็นสำคัญ หากต้องการให้การเติบโตของจีดีพี ในปี 58 โตได้ร้อยละ 4 - 4.5 ทั้งนี้ ทางสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือมองว่าการส่งออกปีหน้าจะโตประมาณร้อยละ 2.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ หมวดยานยนต์ และหมวดอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ -1.0 และ -4.6 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญที่ลดลงได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ -5.0 -1.3 และ -15.2 ตามลำดับ โดย สศค.มองว่าทั้งปี มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปี 58 คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5 - 5.5 คาดการณ์ ณ ต.ค.57) เพิ่มขึ้นจากปี 57 เนื่องจากคาดว่า การส่งออกสินค้าจะได้รับอานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะยังมีความไม่แน่นอนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกอบกับกระแสการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) จะเป็นปัจจัยหนุนต่อการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 และกลุ่มตลาดอินโดจีน
3.อินโดนีเซียเผยดัชนี CPI เดือน ต.ค. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.83 สูงกว่าคาดการณ์
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะร้อยละ 4.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 จากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับกระแสคาดการณ์ราคาน้ำมันในอนาคต ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารซึ่งมีความผันผวน อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังคงเป็นไปตามเป้าของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ร้อยละ 3.5-5.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของอินโดนีเซีย และตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ มิ.ย. 57 และเงินเฟ้อได้เริ่มปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการปรับค่าไฟฟ้าอย่างเสรี (automatic tariff adjustment) ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการมีนโยบายลดการสนับสนุนค่าไฟฟ้า หลังจากที่รับบาลได้อัดฉีดเงินสนับสนุนราคาเชื้อเพลิงเป็นเวลานาน นอกจากนี้หากมีการประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงเพิ่มเติม อาจส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวเกินเป้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 57 สศค. คาดว่า ในปี 57 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57) ชะลอลงจากปี 56 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 ซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ