รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2014 11:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. นายกฯ ไทย พบนายกฯ รัสเซีย หารือร่วมเพิ่มยอดการค้าระหว่างไทย-รัสเซีย

2. พฤกษาคาดภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 58 จะขยายตัวสูง

3. เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของจีน เดือน ต.ค. 57 สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง

1. นายกฯ ไทย พบนายกฯ รัสเซีย หารือร่วมเพิ่มยอดการค้าระหว่างไทย-รัสเซีย
  • ในวันที่ 12 พ.ย. 57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าหารือทวิภาคีกับนายดมิทริ เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยได้หารือเกี่ยวกับการเพิ่มยอดการค้าระหว่างไทย-รัสเซีย เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ด้วยรัสเซียเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยในปี 56 มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก ขณะที่ระดับการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังคงไม่มากนัก โดยปัจจุบันรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 22 ของไทย โดยเป็นแหล่งส่งออกสำคัญอันดับที่ 25 และเป็นแหล่งนำเข้า อันดับที่ 16 (สัดส่วนปี 56) โดยในปี 56 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-รัสเซียอยู่ที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย ไทยส่งออกไปรัสเซีย 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าจากรัสเซีย3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ทั้งนี้ การขยายการค้ากับรัสเซียจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการขยายตลาดการค้าของไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลงมาก โดยธนาคารกลางรัสเซียได้ประมาณการว่าในปี 57 เศรษฐกิจรัสเซียจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ประกอบกับค่าเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าลงมาก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจรัสเซีย
2. พฤกษาคาดภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 58 จะขยายตัวสูง
  • นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 57 และปี 58 โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยผู้บริโภคยังคงมีอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนในปี 58 ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาขยายตัวในระดับสูง จากเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวดีและการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์ในตลาดเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 57 เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 57 ที่หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.1 อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจในด้านการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างซึ่งเป็นเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะต่อไปยังคงชะลอตัว อาทิ ยอดขายปูนซีเมนต์และยอดขายเหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 57 ยังคงหดตัวลึกขึ้นที่ร้อยละ -5.6 และร้อยละ -13.2 ตามลำดับ ทำให้คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นยังคงมีความเปราะบาง อย่างไรก็ตาม มาตรการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐซึ่งจะมีความชัดเจนและเริ่มดำเนินการในปี 58 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ในปี 58
3. เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของจีน เดือน ต.ค. 57 สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเดือน ต.ค. 57 ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 8.0 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ยอดค้าปลีก ขยายตัวร้อยละ 12.0 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และการลงทุนในสินทรัพย์คงทน เดือน ม.ค. - ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 15.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 16.1 ในช่วง เดือน ม.ค. - ก.ย. 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของจีนใน เดือน ต.ค. 57 สะท้อนเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทานที่ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดค้าปลีก และการลงทุนที่สะท้อนจากการลงทุนในสินทรัพย์คงทนยังคงชะลอตัว สอดคล้องกับด้านอุปทานที่สะท้อนโดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์ เหล็ก และแก้ว เป็นต้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในอัตราต่ำในปี 57 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะยังคงมีภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวฉุดสำคัญ ดังจะเห็นได้จาก ราคาบ้านใหม่ที่ขยายตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 57 จนกระทั่งหดตัวเมื่อเทียบกันช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นครั้งแรกใน เดือน ก.ย. 57 ทั้งนี้ สศค. ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในปีก่อนหน้า (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ