รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2014 14:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. รมว.พาณิชย์ เจรจาจีนซื้อข้าวไทย-ยางแบบจีทูจี คาดสรุปใน 2 สัปดาห์

2. ภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 10 เดือนแรกปี 57 หดตัวร้อยละ -15.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. นักลงทุนมองเศรษฐกิจโลกยังซบเซา

1. รมว.พาณิชย์ เจรจาจีนซื้อข้าวไทย-ยางแบบจีทูจี คาดสรุปใน 2 สัปดาห์
  • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าได้หารือกับบริษัท คอฟโก้ รัฐวิสาหกิจของจีน ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิค (เอเปค) ที่ประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยได้เสนอให้คอฟโกพิจารณาซื้อข้าวจากไทย 2 ล้านตัน และยางพาราอีก 200,000 ตัน ซึ่งเป็นการซื้อขายแบบ รัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และผ่านคอฟโกเพียงรายเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตเหมือนที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากคอฟโก้ตกลงซื้อข้าวจากไทยเพิ่ม 2 ล้านตัน จะมีการลงนามในระดับรัฐมนตรีระหว่างกันภายในเดือน ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน ครบรอบ 40 ปี และในโอกาสที่สมเด็จพระเทพฯ มีพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเจรจาซื้อขายข้าวและยางพาราระหว่างไทยกับจีนแบบ G2G จะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยให้เติบโตได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 มีมูลค่าอยู่ที่ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย โดยการส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือนแรกมีปริมาณ 8.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ เบนิน และแอฟริกา ขณะที่การส่งออกยางพาราไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 4.7 พันล้านเหรีญสหรัฐ หดตัวร้อยละ -20.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคายางในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ ได้แก่ จีน นอกจากนี้ สศค. คาดว่า การส่งออกสินค้าไทยในปี 57 และ 58 จะขยายตัวร้อยละ 0.1 และ 3.5 ตามลำดับ (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57)
2. ภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 10 เดือนแรกปี 57 หดตัวร้อยละ -15.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์การเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค. -ต.ค.) ของปี 57 มีโครงการเปิดใหม่รวมทั้งสิ้น 350 โครงการ หรือมีจำนวนรวม 9.42 หมื่นยูนิต ลดลงกว่าร้อยละ -15.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 58 ภาพรวมตลาดอสังหาฯ จะเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สำหรับภาพรวมด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 57 พบว่าหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเร่งขึ้นไปมากแล้วในปี 56 ประกอบกับการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 57 จากยอดขายปูนซีเมนต์และยอดขายเหล็ก พบว่ายังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -5.6 และ ร้อยละ -13.2 ตามลำดับ ทำให้คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นยังคงมีความเปราะบาง อย่างไรก็ดี ในปี 58 คาดว่าภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับปัจจัยบวกอื่นๆ อาทิ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
3. นักลงทุนมองเศรษฐกิจโลกยังซบเซา
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยผลการสำรวจมุมมองของนักลงทุนจำนวน 510 คนต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกพบว่า นักลงทุนที่มองว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะซบเซามีถึงร้อยละ 38 ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อน ถึงเท่าตัว และเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 55 ซึ่งเป็นช่วงที่ยุโรปกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่าความเสี่ยงที่นักลงทุนกังวลในปีหน้าประกอบด้วย ภาวะเงินฝืดทั่วโลก เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRIC ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ในช่วงขาลง และเศรษฐกิจยุโรปที่ย่ำแย่ โดยนักลงทุนมองว่านโยบายทั้งการเงินและการคลังที่ยุโรปใช้ไม่มีประสิทธิภาพ คือ นำมาใช้ช้าเกินไปและถูกใช้สนับสนุนเศรษฐกิจน้อยเกินไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่าศักยภาพและยังคงมีความเสี่ยงหลายประการ โดยเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวยังมีปัญหาเสถียรภาพในภาคธนาคาร ปัญหาการว่างงาน และความเสี่ยงของเงินฝืด ทั้งนี้ ระดับราคาล่าสุดในเดือน ต.ค. ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ จากการที่ทิศทางราคาพลังงานโลกอยู่ในภาวะตกต่ำทำให้ความเสี่ยงเงินฝืดมีความเป็นไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สศค. ยังคาดว่า เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวในปีหน้า โดยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.2 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ขณะที่เศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยคาดว่าจะเติบโตชะลอลงที่ร้อยละ 7.2 จากปีนี้ที่คาดว่า จะเติบโตที่ร้อยละ 7.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ จากปัญหาการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในและการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ในภาพรวม สศค. คาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย 15 ประเทศ โดยเฉลี่ยจะฟื้นตัวเล็กน้อย โดยจะเติบโตที่ร้อยละ 3.84 ในปีหน้าเร่งขึ้นจากการเติบโตที่ร้อยละ 3.70 ในปีนี้ นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ