รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2014 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตร้อยละ 0.6 หวังปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5

2. พาณิชย์คาดการณ์ส่งออกปีหน้าโตร้อยละ 4

3. GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3/57 หดตัวร้อยละ -1.2

1. เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตร้อยละ 0.6 หวังปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 มาจากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวเพิ่มตามความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนรวมกลับมาขยายตัวตามการลงทุนของภาคเอกชน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.2 สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ หากพิจารณาจากแหล่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ด้าน Demand Side พบว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/57 มาจากการบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 1.1 ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือร้อยละ 0.8 และการลงทุนภาคเอกชนร้อยละ 0.7 ในขณะที่ด้าน Supply Side มาจากสาขาการขนส่งสื่อสารร้อยละ 0.4 ตัวกลางทางการเงินร้อยละ 0.22 ไฟฟ้าร้อยละ 0.17 เกษตรร้อยละ 0.1 ไฟฟ้าร้อยละ 0.1 และสาขาค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 0.08 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีที่เหลือเศรษฐกิจไทยจะได้แรงสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวดีในช่วงไตรมาสสุดท้าย ขณะที่การบริโภคภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2-1.7) สำหรับปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในช่วง ร้อยละ 3.6 - 4.6 (คาดการณ์ ณ ต.ค.57)
2. พาณิชย์คาดการณ์ส่งออกปีหน้าโตร้อยละ 4
  • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกปีหน้าว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ภายใต้จีดีพีที่รัฐบาลคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4 - 5โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นทั้งตัวเลขนำเข้าและส่งออกตั้งแต่ ก.ย. 57 รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2558 แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวได้มากจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย รวมทั้งแนวโน้มการ อ่อนค่าของเงินบาทที่เป็นส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออก ทั้งนี้ สศค. ได้คาดการณ์ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้า เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาว่าการส่งออกสินค้าในปี 58 จะเติบโตใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ คือจะเติบโตได้ ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 - 5.5) แม้ว่าในปี 57 มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรก หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาดูทิศทางการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาคการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 74.0 ต่อ GDP ในปี 56 ซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (contribution to growth)ในช่วงที่ผ่านมา
3. GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3/57 หดตัวร้อยละ -1.2
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ปี 57 หดตัวลงร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีการหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.9 (%qoq_sa) จากการที่เศรษฐกิจที่มีการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เป็นผลให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภวะการถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการหดตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 3/57 ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ลดลงภายหลังการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 อย่างไรก็ดี จากภาวะของการถดถอยเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อการพิจารณาแผนการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในรอบที่ 2 ในช่วงเดือน ต.ค. 58 สำหรับสถานการณ์ในตรมาสที่ 4/57 คาดว่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับเดิม สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ที่ระดับ 38.7 จุด สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อเนื่องของชาวญี่ปุ่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ