ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 19, 2014 11:14 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ในเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 171,498 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,352 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (แต่ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.0) โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังสูงกว่าเป้าหมาย 1,320 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 สาเหตุสำคัญมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษียาสูบ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัว นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 11,669 และ 633 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.1 และ 7.8 ตามลำดับ”

ทั้งนี้ นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนตุลาคม 2557 ที่สูงกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558”

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 171,498 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,352 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.0) โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังสูงกว่าประมาณการ 1,320 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 ประกอบกับการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 11,669 และ 633 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.1 และ 7.8 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 111,345 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,186 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,707 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 (แต่ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) เป็นผลจากการบริโภคที่ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมาย โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,504 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.7) และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าสูงกว่าเป้าหมาย 1,203 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.0) และ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,038 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.8) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาคเอกชนจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,541 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สอดคล้องกับการลดลงของผลประกอบการของนิติบุคคลในปีก่อน

2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 33,934 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 513 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,142 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 26.2) สาเหตุสำคัญมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ในปี 2557 ที่ยังไม่ฟื้นตัว (2) ภาษีสุรา จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 995 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.3 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.9) เนื่องจากฐานการชำระภาษีสุราที่สูงในปีก่อนหน้า และ (3) ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 709 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.0) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสำหรับผู้ส่งออกเบียร์ จากเดิมที่ให้ผู้ส่งออกเบียร์ชำระภาษีไว้ก่อนแล้วจึงขอคืนภาษีในภายหลัง เป็นการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ส่งผลให้การชำระภาษีมีจำนวนลดลง

อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,562 ล้านบาท หรือร้อยละ 54.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.6) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการชะลอการชำระภาษีบุหรี่ในช่วงก่อนหน้า เพื่อปรับปรุงบรรจุภัณฑ์บุหรี่ให้พิมพ์ภาพคำเตือน

พิษภัยของบุหรี่เพิ่มขึ้นตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีผลตั้งแต่ 23 กันยายน 2557 และ (2) ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 594 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.5) สาเหตุสำคัญมาจากการปรับอัตราภาษีน้ำมัน

3. กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 8,947 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 353 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.2) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 382 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 สำหรับสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เครื่องมือของใช้ชนิดมีคม และผลไม้

4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 36,963 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,669 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.1 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการประปานครหลวง

5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 8,709 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 633 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.4) สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บรายได้สัมปทานปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการ 322 ล้านบาท

สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 162 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 7 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 35.2) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากเหรียญกษาปณ์ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย

6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 25,400 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,099 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.1 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 23,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,770 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 2,400 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 329 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9

7. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 1,600 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 106 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1

8. เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 1,400 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 65 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3538

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ