รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 2, 2014 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป พ.ย. 57 โตร้อยละ 1.26 ขยายตัวต่ำสุดรอบ 5 ปี

2. สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ คาดส่งออกปีหน้าโตร้อยละ 2.5

3. PMI ภาคการผลิตจีนเดือน พ.ย. 57 โตต่ำกว่าคาด

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป พ.ย. 57 โตร้อยละ 1.26 ขยายตัวต่ำสุดรอบ 5 ปี
  • นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน พ.ย. 57 พบว่า อยู่ที่ 107.19 สูงขึ้นร้อยละ 1.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ย.52 แต่ยืนยันว่า ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะยังไม่เข้าสู่ภาวะติดลบ เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต้องติดลบต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากนี้ คาดว่า ในไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ส่งผลให้ตลอดทั้งปี อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินทั่วไปในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (ตั้งแต่เม.ย.-พ.ย.57) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รวมทั้งมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาล นอกจากนี้ ในหมวดของราคาอาหารสด ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะ ราคาเนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงทรงตัวระดับปกติ ส่งผลให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลงทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 - 2.6) ในขณะที่ในปี 58 คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ ร้อยละ 2.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 - 2.7) คาดการณ์ ณ ต.ค.57
2. สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ คาดส่งออกปีหน้าโตร้อยละ 2.5
  • นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ส่งออกของไทย ในปีหน้า คาดว่า จะดีขึ้นทั้งปีคาดว่าจะโตที่ร้อยละ 2.5 ไม่ใช่ร้อยละ 4 อย่างที่หลายแห่งคาดการณ์ไว้ สาเหตุเพราะสภาผู้ส่งออกฯ คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตไม่ดีนัก เพราะยังไม่อยู่ในภาวะฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ ญี่ปุ่นเศรษฐกิจยังคงมีปัญหา และการแข่งขันยังรุนแรง ดังนั้น หากการส่งออกของไทยโตได้มากกว่าร้อยละ 2.5 ถือเป็นเครดิตของรัฐบาล แต่แม้จะได้ตามนี้ ก็ถือว่ายังไม่ดีนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวแล้ว โดยในเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ข้อมูล 10 เดือนแรก การส่งออกยังคงหดตัวที่ร้อยละ -0.4 จากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง อย่างไรก็ดี แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 57 นี้ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 0.1 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ -0.15 ถึง 0.35 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57) สำหรับในปี 58 นั้น สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 จากปัจจัยสนับสนุนด้าน อัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าปี 58 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) ซึ่งคาดว่า GDP ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก 15 ประเทศของไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.84
3. PMI ภาคการผลิตจีนเดือน พ.ย. 57 โตต่ำกว่าคาด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ภาคการผลิตร่วงลงสู่ 50.3 ในเดือน พ.ย. 57 จาก 50.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 50.6 แสดงถึงสภาวะในภาคการผลิตที่เติบโตในอัตราต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จีนอาจต้องดำเนินมาตรการใดๆ เพิ่ม หลังจากที่เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน พ.ย. 57 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่จีดีพีของจีนขยายตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาส 3/57 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 51 จนทำให้นักลงทุนกังวลกันว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะฉุดเศรษฐกิจโลกให้เติบโตช้าลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ สะท้อนถึงภาวะการเติบโตที่ยังคงอยู่ในช่วงขาลงของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากภาคการลงทุนถือเป็น ปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการบริโภคภายในประเทศซึ่งอยู่ในภาวะชะลอลงเช่นเดียวกัน แม้ว่ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน พ.ย. 57 ที่ผ่านมา แต่อาจไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทิศทางบวกมากนัก กอปรกับราคาอสังหาริมทรัพย์มี การหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ของธนาคารพาณิชย์จีนที่รัดกุมขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่เหลือของปี 57 โดย สศค. คาดว่าปี 57 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57) อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ