รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2014 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2557

Summary:

1. สศอ. คาดปี 57 MPI หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

2. พาณิชย์มอบของขวัญปีใหม่ เอกชนยอมขาดทุนลดราคาสินค้า ดีเดย์ 17 ธ.ค. 57

3. เงินเฟ้อยุโรปร่วงต่ำสุดรอบ 5 ปี

1. สศอ. คาดปี 57 MPI หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.57 อยู่ที่ 166.35 หรือหดตัวที่ร้อยละ - 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ภาพรวมในช่วง 10 เดือน แรกปี 57 (ม.ค.-ต.ค. 2557) ยังหดตัวที่ร้อยละ 5.1 ทำให้คาดว่าทั้งปี 57 ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) จะหดตัวที่ร้อยละ - 4.0 และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -1.5 ถึงร้อยละ -2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ MPI ในเดือน ต.ค. 57 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวลง ในการผลิตหมวดอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เครื่องประดับ อาหารและยานยนต์ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากอัตรา การขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหลังหักผลทางฤดูกาล (mom_sa) พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ต.ค.57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 87.5 โดยเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมในช่วงปลายปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี ดัชนี MPI จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
2. พาณิชย์มอบของขวัญปีใหม่ เอกชนยอมขาดทุนลดราคาสินค้า ดีเดย์ 17 ธ.ค. 57
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและผู้บริหารห้างสรรพสินค้า 36 รายเรื่องของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 57 ว่าผู้ประกอบการทั้งหมด พร้อมให้ความร่วมมือที่จะเข้าร่วมโครงการของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย เพื่อตอบรับนโยบายรัฐบาล โดยผู้ประกอบการยืนยันที่จะลดราคาสินค้าพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่ร้อยละ 20-70 จะจัดทั้งสิ้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 24-30 ธ.ค. 57 และจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวรายละเอียดโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธ.ค. 57 นี้ โดยสินค้าที่นำมาลดราคา ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ประจำวัน ของใช้ในครัวเรือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ทั้งนี้ โครงการของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยของกระทรวงพาณิชย์จะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านเงินฝั่งอุปสงค์ในช่วง 2 เดือน ที่เหลือของปี 57 ผ่านหมวดอาหารและเครื่องดื่มและหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนาเป็นสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักปีฐาน 54 ถึงร้อยละ 33.48 และร้อยละ 6.03 ของตะกร้าเงินเฟ้อตามลำดับ โดย สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57) ซึ่งอาจจะมีการปรับการคาดการณ์อีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ได้รวมผลของนโยบายดังกล่าว
3. เงินเฟ้อยุโรปร่วงต่ำสุดรอบ 5 ปี
  • สำนักงานสถิติแห่งยุโรป (Eurostat) เปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีสาเหตุหลักมาจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งปรับลดลงร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่ยังอยู่ในภาวะซบเซา โดยอัตราเงินเฟ้อ ในสเปนหดตัวที่ร้อยละ -0.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเยอรมันก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 53 ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 0.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แรงกดดันของความตกต่ำของราคาน้ำมันมีน้ำหนักค่อนข้างมากต่อสภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวในภูมิภาคยุโรป ทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 เป็นไปได้ยากขึ้น นั่นจึงเป็นแรงกดดันต่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการออกนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเพิ่มเติมมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยนายมาริโอ ดรากีประธาน ECB ได้แสดงจุดยืนต่อการกระตุ้นให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนมาระยะหนึ่ง สอดคล้องกับนายวิเตอร์ คอนสแตนชิโอ รองประธาน ECB ที่ให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่สำคัญของมาตรการกระตุ้นระลอกใหม่ของยุโรปคือเยอรมันที่มีทีท่าเห็นต่างกับผู้บริหาร ECB ทั้งสองคน สังเกตได้จากท่าทีของนายเยนส์ ไวด์มาน ประธานธนาคารกลางเยอรมันที่เห็นแย้งกับการกระตุ้นโดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และยังมองว่าการที่ราคาน้ำมันลดลงควรเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคจึงถือเสมือนเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน กระทั่งนางซาบาย ลอว์เทนชลเกอร์ บอร์ดบริหารของ ECB เองที่เป็นชาวเยอรมันก็ยังให้สัมภาษณ์ว่า QE ใหม่ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เนื่องจากการใช้มาตรการดังกล่าวมีผลข้างเคียง และไม่ใช่จุดประสงค์หลักของการรักษาเสถียรภาพด้านราคา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ