ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) และการประชุม Steering Committee ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีด้านการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่น ครั้งที่ 1
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4-5 ธันวาคม 2557 เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวน ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จึงเห็นว่าแต่ละประเทศควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว โดยที่ประชุมฯ มีประเด็นหลักสรุปได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค และเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยเห็นว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียในปี 2557 มีการขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศและในภูมิภาค โดย ADB ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอาเซียนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ในปี 2557 และ ในขณะที่ IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจของอาเซียนจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) ของสหรัฐฯ การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Easing: QQE) ของญี่ปุ่น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ADB และ IMF เห็นว่าอาเซียน+3 ความเร่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Reform) เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว พร้อมทั้ง สนับสนุนการดำเนินมาตรการปกป้องความมั่นคงทางการเงิน และการดำเนินนโยบายการคลังแบบหดตัว (Fiscal Consolidation) นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะให้อาเซียน+3 เพิ่มศักยภาพของ CMIM ซึ่งเป็นโครงข่ายป้องกันภัยทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาค เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในกรณีที่สมาชิกประสบวิกฤตเศรษฐกิจ
2. การเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งได้มีการเพิ่มขนาดของ CMIM เป็น 2 เท่า จากเดิม 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุน การเงินระหว่างประเทศ (IMF Delinked Portion) จาก 20% เป็น 30% โดยที่ประชุมฯ ได้หารือความคืบหน้าในการเสริมสร้าง ประสิทธิภาพของ CMIM โดยเฉพาะความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของกลไกในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ CMIM เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
3. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ติดตามและเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 โดยเร่งรัดให้สมาชิกเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงเพื่อการจัดตั้ง AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้ร่วมกันลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกา และที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างธรรมาภิบาลของ AMRO พร้อมทั้ง ได้เน้นย้ำให้ AMRO พัฒนาประสิทธิภาพในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การระบุความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและของประเทศสมาชิก และการนำเสนอข้อเสนอแนะด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง
4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินงานของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งได้ค้ำประกันตราสารหนี้ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ และ (2) ความคืบหน้าในการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (Asian Multi-currency Bond Issuance Framework: AMBIF) เพื่อสนับสนุนการออกตราสารหนี้ระหว่างประเทศสมาชิกได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
อนึ่ง ภายหลังจากการประชุม AFCDM+3 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 ปลัดกระทรวงการคลังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Steering Committee ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีด้านการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการหารือระดับสูงสุดของความร่วมมือทวิภาคีด้านการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่น ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังของไทย ปลัดกระทรวงการคลังด้านต่างประเทศของญี่ปุ่น (Mr. Tatsuo Yamasaki) และประธานกรรมาธิการของ Financial Services Agency (FSA) ของญี่ปุ่น (Mr. Kiyoshi Hosomizo) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ และติดตามความคืบหน้าและกำหนดแนวนโยบายความร่วมมือด้านการเงินระหว่างกัน โดยสองฝ่ายตกลงที่จะสานต่อความร่วมมือทางเงิน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงิน อาทิ นโยบายการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (มาตรการสินเชื่อ Nano – Finance) นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ และความร่วมมือในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3612 / 3666
--กระทรวงการคลัง--