รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 8, 2014 13:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์-สอท.-หอการค้าถกแผนปฏิบัติการ ดันเป้าส่งออกปีหน้าโตร้อยละ 4

2. ราคาน้ำมันลดกดต้นทุนพลังงาน สนับสนุนการบริโภค

3. เยอรมนี กดดันฝรั่งเศส อิตาลี เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ

1. พาณิชย์-สอท.-หอการค้าถกแผนปฏิบัติการ ดันเป้าส่งออกปีหน้าโตร้อยละ 4
  • พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ธ.ค. 57 นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมร่วมกับ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อวางแผนการผลักดันตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยในส่วนของการส่งออกตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกในปีหน้าให้ขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งจะเน้นการหาตลาดใหม่ วางแผนเจาะตลาดรายประเทศ และรายกลุ่มสินค้า ผลักดันการเจรจาเปิดเสรีการค้าใหม่ๆ จากที่ได้ทำแล้ว เช่น ตุรกี บาห์เรน ปากีสถาน และพึ่งพาการค้าผ่านชายแดน โดยจะเร่งผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็วที่สุด เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าชายแดนให้ได้ 1.5 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าส่งออกสินค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.1 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57) เนื่องจากคาดว่า การส่งออกสินค้าจะได้รับอานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะยังมีความไม่แน่นอนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และประเด็นเพดานหนี้สหรัฐ ประกอบกับกระแสการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) จะเป็นปัจจัยหนุนต่อการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 และกลุ่มตลาดอินโดจีน นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตและการขนส่งในการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทและราคาน้ำมันดิบที่มีทิศทางลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สหภาพยุโรป และทวีปออสเตรเลียจากการที่หลายบริษัทรถยนต์ของโลกจะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากออสเตรเลีย ราคาสินค้าส่งออกมีทิศทางลดลงต่อเนื่องตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ความเสี่ยงในด้านความขัดแย้งทางการเมือง (Geo-political risk) ในแต่ละภูมิภาค ปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออก ทั้งในด้านขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยและข้อจำกัดด้านการผลิต และความเสี่ยงจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรปในสินค้าส่งออกไทย
2. ราคาน้ำมันลดกดต้นทุนพลังงาน สนับสนุนการบริโภค
  • ประธานกรรมการบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด กล่าวว่าราคาน้ำมันดีเซล เบนซิล ที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้ต้องการออกจากบ้านเพื่อมาจับจ่าย ใช้สอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนต่างๆ อาทิ ค่าเดินทางและค่าขนส่งปรับลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ทางสหพัฒน์ ยังคงไม่ปรับราคาสินค้า เนื่องจากคาดว่าราคาพลังงานจะปรับตัวเพียงชั่วคราวเท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. การที่ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลงนั้น เป็นไปตามกลไกของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากมีอุปทานส่วนเกิน โดยเฉพาะจากแหล่งผลิตในแถบอเมริกาเหนือ ในขณะที่อุปสงค์ของน้ำมันค่อนข้างทรงตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และ 2. จากการที่น้ำมันปรับตัวลดลง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านกลไกของราคาสินค้าในประเทศ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 11 เดือนแรกปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ถึงระดับราคาสินค้าในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการบริโภคของภาคเอกชนในระยะต่อไป โดย สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.4 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57)
3. เยอรมนี กดดันฝรั่งเศส อิตาลี เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ
  • นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีให้สัมภาษณ์แก่สื่อในประเทศว่า มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ฝรั่งเศสและอิตาลีกำลังดำเนินการอยู่นั้นไม่เพียงพอ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิรูปมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งนี้การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวถือเป็นข้อแลกเปลี่ยนต่อการยืดระยะเวลาในการลดการขาดดุลงบประมาณของทั้งสองประเทศลงสู่ระดับที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎของสหภาพยุโรปภายในเดือน มี.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจสำหรับประเทศในสหภาพยุโรปเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการฟื้นตัวในระยะยาว โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองและสามของกลุ่มยูโรโซน อย่างไรก็ดี การปฏิรูปเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการลดการขาดดุลงบประมาณให้เป็นไปตามกฎของสหภาพฯ ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP จะมีผลทางลบต่อการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้นเนื่องจากเป็นการจำกัดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลัง ซึ่งจะส่งผลเสียมากเป็นพิเศษในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและมีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ฝรั่งเศสมีแผนที่จะตัดงบประมาณเพิ่มเติมอีก 3.6 พันล้านยูโร ซึ่งแม้จะทำให้ฝรั่งเศสสามารถลดการขาดดุลงบประมาณลงมาได้อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ในปีหน้า แต่ก็ยังเกินกว่ากฎของสหภาพฯ ขณะที่ อิตาลีเพิ่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก Standard and Poor's ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแนวโน้มการเติบโตที่ซบเซาและภาระทางการคลังที่สูง จะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศยังมีอุปสรรคสูงในการดำเนินการทั้งลดภาระการคลังให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ได้อย่างที่เยอรมนีต้องการ อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองก็ยังมีความเปราะบาง ซึ่งนั่นหมายถึงข้อจำกัดในการเติบโตของยุโรปด้วยเช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ