Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2557
Summary:
1. รมว.เกษตรฯ จี้พาณิชย์ลดราคาปุ๋ยตามน้ำมัน
2. สศอ. เผยปี 58 ไทยได้โควต้านำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนตามข้อตกลง JTEPA 5.3 แสนตัน
3. เกาหลีใต้หั่นจีดีพีปี 58 โตไม่ถึงร้อยละ 4
1. รมว.เกษตรฯ จี้พาณิชย์ลดราคาปุ๋ยตามน้ำมัน
- นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เร่งประเมินต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยเฉพาะต้นทุนปุ๋ย ที่ได้วัตถุดิบจากน้ำมันดิบ เมื่อราคาน้ำมันลด คาดว่าต้นทุนในการผลิตปุ๋ยเคมีก็ต้องลดลงด้วย ดังนั้นต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก็ต้องลดลงเช่นกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลพบว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 57 อยู่ที่ 97.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 55.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากนี้น่าจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลดลง โดยราคาเชื้อเพลิงถือว่าเป็นปัจจัยหลักต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยมีสัดส่วนร้อยละ 67 ของต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมด นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรต่างๆ ที่ผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและศัตรูพืช และอาหารสัตว์ ควรจะปรับลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาปุ๋ยเป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งหากราคาปุ๋ยมีการปรับลดลงน่าจะเป็นส่วนช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นได้จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริง จากการคำนวณโดย สศค. ในเดือน พ.ย. 57 หดตัวมากถึงร้อยละ -22.1 ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และผลผลิตที่ลดลง ดังนั้น หากเกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตลดลง จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคของเกษตรกรและประชาชนในชนบทได้อีกทางหนึ่ง
2. สศอ. เผยปี 58 ไทยได้โควต้านำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนตามข้อตกลง JTEPA 5.3 แสนตัน
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ว่า ผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารการนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ปริมาณโควตานำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศญี่ปุ่นสำหรับปี 58 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากภาครัฐต้องการจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่เป็นจำนวนมากและผลิตภัณฑ์บางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้เหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เหล็กภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการบริโภคเหล็ก โดยที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้น ข้อมูลล่าสุดจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเดือน ต.ค.57 พบว่า ปริมาณการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประกอบด้วยปริมาณการใช้เหล็กทรงยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 และปริมาณการใช้เหล็กทรงแบนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการผลิตจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก พบว่า เดือน ต.ค.57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ด้านการนำเข้าเหล็กของไทยในเดือน ต.ค. 57 พบว่า ไทยมีการนำเข้าเหล็กรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 682.22 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. เกาหลีใต้หั่นจีดีพีปี 58 โตไม่ถึงร้อยละ 4
- กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปี 58 ลงสู่ระดับร้อยละ 3.8 จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4 โดยเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ย่ำแย่และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กระทรวงระบุว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปี 57 และขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 58 อย่างไรก็ตาม กระทรวงคาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะฟื้นตัวในปีหน้า หลังจากที่การบริโภคของภาคเอกชนอยู่ในภาวะอ่อนแอซึ่งมีสาเหตุมาจากโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีอับปางเมื่อเดือน เม.ย. 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการส่งออกมีสัดส่วนร้อยละ 53.9 ของ GDP ปี 2556 แต่การบริโภคของภาคเอกชนก็ยังคงถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 51.0 ของ GDP ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3/57 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง อีกทั้งมูลค่าการส่งออกเดือน พ.ย. 57 หดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังยุโรป ฮ่องกง และญี่ปุ่นที่หดตัวต่อเนื่อง แต่ในด้านการบริโภคภาคเอกชน ยังคงมีปัจจัยบวกจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ในเดือน พ.ย. 57 และอาจมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลดลง โดย สศค.คาดว่าปี 57 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่ปี 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257