Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2557
Summary:
1. ปตท.ส่งซิกก๊าซปีหน้าส่อลด
2. ธปท.คาดหยุดยาวปีใหม่ เงินสะพัด 3.23 แสนล้านบาท
3. BOJ คงมาตรการกระตุ้นสู้ความเสี่ยงเงินฝืด
1. ปตท.ส่งซิกก๊าซปีหน้าส่อลด
- นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางขาลง โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงปี 51 ที่ราคาน้ำมันในช่วงนั้นต่ำสุดประมาณ 37 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากที่สูงสุดประมาณ 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น รอบนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะลดต่ำสุดในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากนั้นราคาน้ำมันจะค่อยขยับขึ้น เพราะคาดว่ากลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ค้าอื่นๆ จะต้องหาทางแทรกแซงราคาเพื่อลดปัญหาขาดทุน เช่น การลดกำลังการผลิต เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 58 ตามกลไกของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากมีอุปทานส่วนเกิน โดยเฉพาะจากแหล่งผลิตในแถบอเมริกาเหนือ ในขณะที่อุปสงค์ของน้ำมันค่อนข้างทรงตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และจากการที่น้ำมันปรับตัวลดลง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านกลไกของราคาสินค้าในประเทศในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ที่มีสัดส่วนน้ำหนักปีฐานร้อยละ 25.54 ของตะกร้าเงินเฟ้อ โดย สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57) อย่างไรก็ตาม จากประเด็นสงครามระหว่างน้ำมันระหว่างกลุ่ม OPEC และสหรัฐทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะต่ำกว่าที่คาด ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ม.ค. 58
2. ธปท.คาดหยุดยาวปีใหม่ เงินสะพัด 3.23 แสนล้านบาท
- ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์และวางแผน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ ทำให้ประชาชนมีความต้องการใช้ธนบัตรจะอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ ซึ่งธปท.ประมาณการว่าจะมีธนบัตรออกใช้หมุนเวียน ณ สิ้นปี 57 ในมูลค่าประมาณ 1.49 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ประมาณ 3.23 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งทางด้านอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ปี 57 จะช่วยสนับสนุนให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ในช่วงเทศกาลดังกล่าวมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดย สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.1 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57)
3. BOJ คงมาตรการกระตุ้นสู้ความเสี่ยงเงินฝืด
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ คงมาตรการกระตุ้นโดยจะขยายฐานเงินที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี (670 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานธนาคารกลางฯ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมี ความจำเป็นในการรับมือกับความเสี่ยงเงินฝืดที่เพิ่มขึ้นจากความตกต่ำของราคาน้ำมันในปีหน้า ขณะเดียวกันสัญญาณทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัวของญี่ปุ่นเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยทั้งภาคการส่งออกและยอดการผลิตเริ่มฟื้นตัว
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของการขึ้นอัตราภาษีเมื่อ ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนลงมาก และมาตรการกระตุ้นทางการเงิน จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี BOJ มีความกังวลว่าความเสี่ยงของราคาน้ำมันที่ปรับลดต่อเนื่องจะเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน ทำให้ BOJ มีแนวโน้มที่อาจจะออกมาตรการสนับสนุนอีกเพิ่มเติม สศค. วิเคราะห์ว่า ขาลงของราคาน้ำมันให้น้ำหนักในด้านบวกต่อเศรษฐกิจมากกว่าด้านลบ เนื่องจากจะเป็นแรงสนับสนุนต่อการบริโภคและการผลิตภายในประเทศซึ่งจะสามารถเป็นตัวดึงเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ (Demand-pull inflation) ให้ถึงเป้าหมายที่ทาง BOJ ตั้งไว้ได้ ทั้งนี้ สศค. ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 1.0 ถือเป็นการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจากปีนี้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257