Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2557
1. สภาอุตสาหกรรมเผย ภาพรวมรถยนต์ปีนี้ยังคงชะลอตัว
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย 57 อยู่ที่ระดับ 89.7
3. กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ปรับเพิ่ม GPD ไตรมาสที่ 3 ปี 57 เป็น ร้อยละ 2.7 ต่อปี
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดการผลิตรถยนต์เดือน พ.ย.57 ว่ามียอดผลิต 158,038 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 และลดงร้อยละ 1.1 จากเดือน ต.ค. 57 ทำให้การผลิตในช่วง 11 เดือนแรกปี 2557 มียอดผลิตรวม 1,726,338 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.9
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย. 57 ปรับลดลงร้อยละ -13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัวเนื่องจากการเลื่อนการบริโภคไปในช่วง 1 - 2 ปีก่อน แม้ว่าจะมีงาน Motor Expo มาช่วยสนับสนุนให้เกิดการซื้อในช่วงปลายปี โดยในช่วงงาน Motor Expo ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. 57 - 10 ธ.ค. 57 มียอดจองซื้อรถยนต์และรถจักรยานยานต์ประมาณ 29,413 คัน แต่อุปสงค์ภายในประเทศยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์ในช่วง 11 เดือน ของปี 57 (ม.ค. - พ.ย. 57) ปรับลดลงร้อยละ -40.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลงจากสงครามในตะวันออกกลาง การเกิดโรคระบาดอีโบล่า ค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลง และเศรฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าคาด ทำให้การส่งออกในอาเซียน โดยเฉพาะที่ไปจีนลดลง ประกอบกับบางประเทศหันมานำเข้าชิ้นส่วน เพื่อประกอบรถยนต์มากขึ้น จึงทำให้ไม่ได้นำเข้ารถยนต์ทั้งคันจากประเทศไทยมากเท่าเดิม ทั้งนี้ ส.อ.ท. คาดว่าเดือน ธ.ค. 57 จะผลิตรถยนต์ได้ 176,000 คัน จากปกติเดือนนี้จะผลิตได้ 200,000 คัน รวมแล้วตลอดปี 2557 คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้รวม 1.9 ล้านคัน ลดลงจากเป้าหมายตั้งไว้ 2.4 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 23 โดยคาดว่าจะส่งออกได้ 1.1 ล้านคัน และขายในประเทศ 880,000 คัน
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน พ.ย.57 อยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 87.5 ในเดือน ต.ค. โดยค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เป็นสำคัญ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 57 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนี ได้แก่ 1) ยอดขายในประเทศที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นในหลายๆกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อตุสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมแฟชั่น เนื่องจากมีกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปี 2) ราคาน้ำมันในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลง และ 3) ผู้ประกอบการเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงิน การขาดแคลนวัตถุดินและความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ทั้งนี้ คาดว่าจากความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 57 จะปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GPD) ในไตรมาสที่ 3 ปี 57 เป็นร้อยละ 2.7 ต่อปี หรือ 5.0 % annualized qoq ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่าทศวรรษ จากระดับ 2.4 ต่อปี หรือ 3.9 % annualized qoq ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GPD สหรัฐในไตรมาสที่ 3 ปี 57 มีปัจจัยสำคัญจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจ สำหรับทางด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯในไตรมาส 3 ปี 57 เพิ่มขึ้น เช่นกัน จากสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 57 ถึง 671,000 ตำแหน่งและอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.9 ของกำลังแรงงานรวมซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เป็นสัญญาณว่าภาคการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าปี 57 เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี ขณะที่ปี 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 - 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257